แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง ป.ธ.๘)

ระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสรูปที่ ๕ ครองวัดอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๓๒ รวม ๑๑ ปี

ชาติภูมิและการบรรพชาอุปสมบท

พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) เป็นชาวเมืองเพชรบุรี เกิดในรัชกาลที่ ๒ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๗๒ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๕๓ เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี ท่านเรียนอักขรสมัยอยู่ในสำนักพระอาจารย์มี ที่วัดคงคาราม เพชรบุรี แล้วบรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ ท่านกลับไปเข้ารับการอุปสมบทที่วัดใหญ่ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๓ มีพระอาจารย์เพชร เจ้าอาวาสวัดใหญ่เป็นอุปัชฌาย์

การศึกษา

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านกลับศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ ได้ ๗ พรรษาแล้วไปอยู่วัดกัลยาณมิตร ท่านได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรกในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ได้เป็นเปรียญ ๔ประโยค ในการที่พระมหาผ่องเข้ามาแปลหนังสือครั้งแรกนี้ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขณะผนวชเป็นพระวชิรญาณ ครองวัดบวรนิเวศวิหาร กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ขณะที่เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เรื่องมีอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระวชิรญาณมีตำแหน่งในคณะกรรมการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงในสมัยสอบปากเปล่า พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นกรรมการอาวุโสอยู่ในคณะนั้นด้วย

ในการสอบวันหนึ่ง พระมหาผ่องแปลปากเปล่าตอนหนึ่งว่า “ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย นิสีทถ จงนั่ง อาสเน ในอาสนะ” พระวชิรญาณไม่โปรดที่แปลศัพท์ว่า “อาสเน” ว่า “ในอาสนะ”
พระมหาผ่องจึงแปลใหม่ว่า “อาสเน เหนืออาสนะ”

การแปลคราวนี้เป็นที่ถูกพระทัยของพระวชิรญาณ แต่พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ค้านว่าแปลไม่ถูก ให้แปลใหม่ เมื่อกรรมการขัดกันเองอย่างนี้ พระมหาผ่องก็ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอย่างไร ได้แต่แปลยักย้ายไปมาอย่างนี้อยู่ช้านาน พระวชิรญาณเกรงว่าพระมหาผ่องจะสอบตกจึงตรัสขึ้นว่า “นั่งในอาสนะนั้น นั่งอย่างไร จะฉีกอาสนะออกแล้วเข้าไปนั่งในช่องที่ฉีกหรือ หรือจะเอาอาสนะ ขึ้นคลุมตัวไว้ในนั้น” พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) โกรธมาก จึงย้อนว่า “ทุกวันนี้เพราะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าแผ่นดินดอก จึงได้มาไล่หนังสือถ้าหาไม่ก็ไม่ปรารถนาเดินมาให้เจ็บหัวแม่ตีน” ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ก็ทรงกริ้วตรัสสั่งห้ามมิให้นิมนต์พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรมอีกและทรงมอบการสอบพระปริยัติธรรมเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระวชิรญาณตั้งแต่บัดนั้นจนสิ้นรัชกาล ปรากฏว่า พระมหาผ่องผู้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมในครั้งนั้นสอบได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ต่อมา พระมหาผ่องได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมอีก ๒ ครั้ง แปลได้ครั้งละ ๒ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค พระมหาผ่องจึงเป็นเปรียญ ๘ ประโยค

เรื่องของพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ยังไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อพระวชิรญาณลาผนวชขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เกรงราชภัยจึงเตรียมย้ายกลับไปอยู่เพชรบุรีซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่าน แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาพยาบาทไม่ กลับทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ย้ายมาครองวัดมหาธาตุ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณธรรมของรัชกาลที่ ๔ ที่ไม่ทรงพยาบาท จึงแต่งคาถาถวายพระพรรัชกาลที่ ๔ ขึ้นต้นว่า “ยํ เทวมนุสฺสานํ มงฺคลตฺถาย ภาสิตํ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้พระสงฆ์สวดคาถานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุถึงมรณภาพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระ พิมลธรรม (จี่) เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดประยุรวงศาวาสเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๓๙๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมภาณพิลาศ

พ.ศ.๒๔๑๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระโพธิวงศาจารย์ ต่อมามีความผิดด้วยรับฎีกานิมนต์ในงานพระราชพิธีแล้วไปไม่ทันพระราชพิธี ต้องถูกลดสมณศักดิ์ลงเป็นพระธรรมภาณพิลาศดังเดิม พระราชาคณะที่ถูกลดสมณศักดิ์ลงในคราวเดียวกันนี้มี ๒ รูป ดังมีเรื่องเล่าว่า“พระธรรมเจดีย์ (ทอง) วัดอรุณราชวราราม กับพระโพธิวงศาจารย์(ผ่อง) วัดราชบุรณะมีความผิดที่รับฎีกานิมนต์ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลแล้วรับฎีกานิมนต์ของเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) ด้วย เข้ามาไม่ทันงานพระราชพิธี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้ว มีพระราชดำรัสว่า “เจ้าคุณภูเขาดีกว่าฉัน” โปรดให้ลดพระธรรมเจดีย์ (ทอง) เป็นพระเทพมุนีตามเดิม แล้วทรงตั้งพระเทพโมลี (เนียม) วัดกัลยาณมิตร เป็นพระธรรมเจดีย์แทน และโปรดให้ลดพระโพธิวงศาจารย์ (ผ่อง) ลงมาเป็นพระธรรมภาณพิลาส ตามเดิม ในคราวเดียวกันและมีความผิดอย่างเดียวกัน”

การปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๓๙๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทาราม

พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ

พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เมื่อพระสาสนุทเทศาจารย์(สา)ทูลลาสิกขาในพ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นเหตุให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสว่างลง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) จึงกราบบังคมทูลขอให้ย้ายพระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) จากวัดราชบุรณะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส พร้อมกับพระราชทานตาลิปัตรแฉก ปักทองขวาง ประดับพลอย และนิจภัตรเสมอชั้นเทพอย่างเดิม

พ.ศ. ๒๔๒๘ ในสมัยที่พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง)เป็นเจ้าอาวาส เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) สร้างศาลาต่อมุขพระเจดีย์องค์ใหญ่ให้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมอุทิศแด่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ผู้บิดาและท่านลูกอิน ผู้มารดาเมื่อครั้งมารดาของท่านมีอายุ ๖๑ ปี จารึกนามศาลานั้นว่า “พรินปริยัติธรรมศาลา” ประพันธ์เป็นโคลงจารึกในแผ่นศิลา ๒ ข้างประตูมีอยู่จนทุกวันนี้

มรณภาพ

พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) เป็นเจ้าอาวาสปกครองอยู่ได้ ๑๑ ปี ถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ อายุ ๘๐ ปี

เรียบเรียงประวัติ บทความธรรม โดยวัดประยุรวงศาวา

 
 
 
 
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 77 คน
วันนี้ 1,071 คน
เมื่อวานนี้ 1,694 คน
เดือนนี้ 47,569 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,635,808 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob