แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
พระธรรมเจดีย์ (แก้ว)

ระธรรมเจดีย์(แก้ว)เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสรูปที่ ๙ ครองวัดอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๔๘ รวม ๕ ปี

ชาติภูมิ

พระธรรมเจดีย์ นามเดิมว่า แก้ว เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๒๐๔ พ.ศ. ๒๓๘๕ แต่แรกชื่อว่า เก๊า ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อว่าแก้ว เมื่อเข้าแปลพระปริยัติธรรม

การอุปสมบทและการศึกษา

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านได้รับการอุปสมบทที่วัดโบสถ์ เมืองจันทบุรี เมื่อท่านบวชพระได้ ๔ พรรษาได้เข้ามาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดราชบูรณะ ในกรุงเทพ ฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมของพระศรีสมโพธิ (สิน) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระศรีสมโพธิ (สิน) ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระยาทำ ท่านตามไปอยู่ที่วัดนั้นด้วย ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต่อมาเข้าแปลที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ อีกครั้งหนึ่ง ได้อีกประโยค ๑ เป็นเปรียญ ๔ ประโยค

สมณศักดิ์

ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะที่พระรัตนมุนี ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะผู้ใหญ่ที่พระราชกระวี มีสำเนาที่ทรงตั้งดังนี้ “ให้เลื่อนพระรัตนมุนี เป็นพระราชกระวี นรสีห์พจน์ปิลันธน์ สถิตย์ ณ วัดไชยพฤกษมาลา พระอารามหลวง มีนิตยภัตรราคา ๔ ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๓ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๓ รูป” ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพมุนี มีสำเนาที่ทรงตั้งดังนี้ “ให้เลื่อนพระราชกระวี เป็นพระเทพมุนี ศรีวิสุทธิศีลาจารย์ ญาณนายก ติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิตย์ ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๔ ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งพระฐานานุกรมได้ ๔ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสังฆวินัย ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวมเป็น ๔ ” ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์

การปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๔๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส

พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ

เหตุการณ์ตอนที่พระราชกระวี(แก้ว)ย้ายจากวัดไชยพฤษมาลาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับการบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษา ดังต่อไปนี้ “ด้วยวัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามซึ่งเคยมีพระราชาคณะปกครองเป็นเจ้าอาวาส บัดนี้ ไม่มีพระราชาคณะปกครอง ทรงดำริเห็นว่า พระราชกระวี ซึ่งอยู่วัดไชยพฤกษมาลา เป็นผู้สมควรที่จะไปเป็นเจ้าอาวาสได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานอาราธนาพระราชกระวีไปอยู่วัดประยุรวงศาวาส วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๗ รูป เจริญพระพุทธมนต์ที่กุฎิวัดประยุรวงศาวาส ซึ่งพระราชกระวีจะไปอยู่ที่นั่น รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน เวลาเช้า พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์เมื่อวานนี้รับพระราชทานฉันและรับสิ่งของเครื่องไทยธรรมของหลวงตามสมควร เวลาบ่ายเจ้าพนักงานได้จัดเรือกลไฟไปรับพระราชกระวี ที่วัดไชยพฤกษมาลาแล้ว จัดเป็นกระบวนแห่แต่วัดไชยพฤกษมาลา กระบวนแห่เรือกลไฟสำหรับเครื่องพิณพาทย์ กลองแขก ๑ ลำ เรือกลไฟสำหรับพระพุทธรูปและพระราชกระวี ฐานา ๒ เปรียญ ๑ อันดับ ๔ รวม ๘ รูป ๑ ลำ และมีเรือพวกญาติของพระสงฆ์และราษฎรช่วยแห่ด้วยเป็นอันมาก เมื่อจัดกระบวนแห่แล้ว เดินกระบวนแห่แต่วัดไชยพฤกษมาลา ไปตามคลองบางกอกน้อย ออกแม่น้ำเจ้าพระยาล่องไปตามลำน้ำ ถึงวัดประยุรวงศาวาส พระราชกระวีและฐานา ๒ เปรียญ ๑ พระอันดับ ๔ รวม ๘ รูป ขึ้นกุฎิวัดประยุรวงศาวาส ส่วนสิ่งของเครื่องบริขารขึ้นกุฎินั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระราชกระวีและฐานาเปรียญพระอันดับมารับพระราชทานไตรและเครื่องบริขารขึ้นกุฎิที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ในเวลาเลี้ยงพระในการพระราชพิธีฉัตรมงคลก่อนแล้ว”

การบริหารการศึกษาหัวเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปแล้วไม่นาน ก็ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเล่าเรียนในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก และในการจัดการศึกษาในหัวเมืองครั้งนี้ ได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ทรงรับภาระหน้าที่จัดการอำนวยการการศึกษาฝ่ายสงฆ์ ในการนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ทรงคัดเลือกพระเถรานุเถระผู้มีความสามารถขึ้นทูลเกล้า ฯ เพื่อทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการการศึกษาหัวเมือง ๑๔ รูป และรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเสนอ ปรากฏว่าได้ทรงแต่งตั้งพระธรรมเจดีย์(แก้ว)ขณะป็นพระราชกระวีเป็นผู้อำนวยการมณฑลนครราชสีมาด้วยรูปหนึ่ง และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ พ.ศ.๒๔๔๕ ก็โปรดให้พระธรรมเจดีย์(แก้ว)ขณะเป็นพระเทพมุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาด้วย

งานสาธารณูปการสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการทอดผ้าพระกฐินที่วัดประยุรวงศาวาสเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระธรรมเจดีย์ (แก้ว)ได้สร้างสะพานท่าน้ำหน้าวัดขึ้นหลังหนึ่งเป็นกรณีพิเศษเพื่อรับเสด็จฯและได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ

มรณภาพ

พระธรรมเจดีย์ (แก้ว) อาพาธเป็นโรคริดสีดวง ถึงมรณภาพที่วัดพระเชตุพนฯในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ รวมอายุได้ ๗๖ ปี

เรียบเรียงประวัติ บทความธรรม โดยวัดประยุรวงศาวาส

 
 
 
 
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 80 คน
วันนี้ 905 คน
เมื่อวานนี้ 1,694 คน
เดือนนี้ 47,403 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,635,642 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob