แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
ขอเชิญเที่ยวงาน
ประวัติวัด

อาณาเขต

  วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มีเนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๕๕.๑ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๒๒๗๖๒ และ ๒๒๗๖๓ ลักษณะพื้นที่ราบเรียบสี่เหลี่ยม มีอาณาเขตอุปจารดังนี้
๑. ทิศตะวันออก มีอาณาเขตจรดถนนประชาธิปก
๒. ทิศตะวันตก มีอาณาเขตจรดคลองสาธารณะ
๓. ทิศเหนือ มีอาณาเขตจรดถนนเทศบาลสาย ๑
๔. ทิศใต้ มีอาณาเขตจรดถนนเทศบาลสาย ๒ และโรงเรียนศึกษานารี

ประวัติวัดประยุรวงศาวาส

  วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี โดยมีเลขทะเบียนวัดที่ ๒๔ ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ)ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนา จึงได้อุทิศสวนกาแฟ ณ ตำบลกุฎีจีน ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามสำหรับพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรม เมื่อปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๙๐ พ.ศ. ๒๓๗๑ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า ๘ ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๗๙ และได้มีการฉลองวัดในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๙ ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ดังหลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บันทึกไว้ว่า “ครั้นลุถึงศักราช ๑๑๙๘ ปีวอก อัฐศก เป็นปีที่ ๑๓ ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยุรวงศาวาส พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน ๕ นิ้วชำรุดหูพะเนียงหักทิ้งอยู่ในวัดบอก ๑ เอาทำไฟพะเนียงจุด....”  

  นอกจากนี้ยังตรงกับข้อความในจดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยามโดยนายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มีใจความในจดหมายเหตุนั้นว่า  “วันนี้มีการฉลองวัดอันงดงามของสมเด็จองค์ใหญ่*(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์)บิดาของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน(สมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์) มีการมหรสพมากมายหลายอย่าง ประชาชนมาประชุมกันมากมายหลายพัน ทั้งชาวพระนครและสัญจรมาจากที่ต่างๆ ของประเทศ”

* จดหมายเหตุมีการตรวจชำระใหม่ เมื่อนายแพทย์บรัดเลย์จัดพิมพ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเรียกว่าสมเด็จองค์ใหญ่ เนื่องจากในช่วงเวลาฉลองวัดประยุรวงศ์ ยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง(ข้อมูลจากหนังสือประวัติวัดประยุรวงศาวาส พ.ศ.๒๔๗๑) 

 

รู้หรือไม่

พ.ศ. ๒๓๗๑ ซึ่งเป็นปีแรกสร้างของวัดประยุรวงศาวาสนั้น ตรงกับปีเกิดของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่คนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ที่เกิดจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับ ท่านผู้หญิงกลิ่น

 

เริ่มต้น ณ แรกสร้าง

  เรื่องราวของการสร้างวัดประยุรวงศาวาสนั้น นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อสร้างคุณประโยชน์นานัปการให้แก่บ้านเมืองและพระศาสนาตลอดระยะเวลาของการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โดยมุ่งหวังที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และความสงบสุขร่มเย็นแก่ทั้งอาณาจักรและพุทธจักร ย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ บ้านเมืองสยามในเวลานั้นสงบสุขร่มเย็น ด้วยว่างเว้นจากศึกสงครามมาเป็นระยะเวลาพอสมควร อีกทั้งการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประกอบกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอนันต์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ ๓ พระอาราม ได้แก่ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม และวัดเฉลิมพระเกียรติราชวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี ตลอดจนทรงสถาปนาและปฏิสังขรณ์พระอาราม พระพุทธปฏิมา ถาวรวัตถุ และเสนาสนะเพื่อเป็นพุทธบูชาและสังฆบูชาอีกจำนวนมาก เช่น วัดนางนอง วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดยานนาวา และวัดราชโอรสาราม ฯลฯ เป็นต้น

  นอกเหนือจากวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ดังที่กล่าว ยังทรงชักชวน เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนเสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ ให้ช่วยกันสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นอีกมากมายเช่นกัน ทำให้เกิดประเพณีของการสร้างวัดในที่ดินของตนขึ้น เพื่อใช้เป็นวัดประจำตระกูลแก่ลูกหลานสืบไป เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ต้นสกุล สิงหเสนี ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้มถวายเป็นพระอารามหลวง ใน พ.ศ.๒๓๖๒ แล้วได้รับพระราชทานชื่อว่า “วัดจักรวรรดิราชาวาส” ในขณะที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์(โต)ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศที่ดินตำบลกุฎีจีน สร้างวัดถวายเป็นพระอารามหลวง ใน พ.ศ.๒๓๖๘ ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วัดกัลยาณมิตร”

  วัดประยุรวงศาวาส นับเป็นพระอารามเพียงแห่งเดียวที่ถือเป็น “พุทธสถานประจำสมเด็จเจ้าพระยาฯ” แม้ตลอดชั่วชีวิตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ)จะมีจิตศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามเป็นพุทธบูชาจำนวนมาก การสร้างวัดแห่งนี้นอกจากมีความตั้งใจยิ่งเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีพระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) และอุทิศกุศลแด่เจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ ๑(นวล)ผู้เป็นมารดา ในปีที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และเจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ ๑(นวล)ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพและพระราชทานเพลิงศพเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑

  เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดโดยยาว ๑๗ วา(๓๕ เมตร)โดยกว้าง ๑๔ วา(๒๘ เมตร) ต่อมา พ.ศ.๒๓๙๓ จึงได้รับ พระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วัดประยุรวงศาวาส” ซึ่งคล้องกันกับพระราชทินนามที่ได้รับในเวลาต่อมา โดยชื่อของวัดนั้นมีความหมายว่า “อารามแห่งวงศ์พระประยูรญาติ” ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูงแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และเหล่า “ราชินิกุลบุนนาค”

เรื่องเล่าจากงานฉลองวัด

 นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ บันทึกไว้ว่าในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส ในปี พ.ศ.๒๓๗๙ นั้น ได้มีการทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ โดยฝังโคนกระบอกปืนใหญ่ลงในแผ่นดิน เมื่อจุดชนวนขึ้น ปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายคน หมอบรัดเลย์ซึ่งในขณะนั้นได้ร่วมกับคณะมิชชันนารีเปิดที่พักของตนเองให้เป็นโอสถศาลา โดยอาศัยพื้นที่บ้านที่เจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ)ปลูกให้ชาวต่างชาติเช่า บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดประยุรวงศาวาส อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียง ๒๕๐ เมตร เจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ)จึงให้คนตามตัวหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บ มีพระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์จึงจำเป็นต้องตัดแขนของพระรูปนั้นจนประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นาน จึงนับได้ว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นที่วัดประยุรวงศาวาสในวันฉลองวัด ภายหลังจากอุบัติเหตุการระเบิดครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ให้สร้างอนุสาวรีย์ปืนใหญ่ ๓ กระบอกไว้ในบริเวณอุทยานเขามอ(เขาเต่า)เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตโดยภายในอนุสาวรีย์มีข้อความจารึกไว้ว่า “อนุสาวรีย์นี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘(พ.ศ.๒๓๗๙)ให้เป็นที่ระฦกแห่งปืนใหญ่ระเบิดให้เป็นที่เสียชีวิตหลายในเวลามีงานมหกรรมการฉลอง พระอารามนี้...”

กำเนิดแห่งวัดพี่...วัดน้อง

  วัดประยุรวงศาวาสและวัดพิชยญาติการาม คือสองวัดสำคัญในฝั่งธนบุรี ที่นอกจากจะมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเคียงคู่กันมากว่า ๘ รัชกาลแล้ว ยังถือเป็นวัดพี่วัดน้อง เนื่องด้วยท่านผู้สร้างวัด ทั้งสองได้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ บุนนาค)หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ผู้สร้างวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ(ทัต บุนนาค)หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ผู้สร้างวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา(บุนนาค)กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์(นวล)ตลอดจนวัดทั้งสองยังได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เฉกเช่นเดียวกันอีกด้วย หลักฐานการสร้างวัดยังมีที่ปรากฏในเอกสารโบราณ เพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งนายมี(เสมียนมี)หรือหมื่นพรหมสมพัตสร ศิษย์เอกสุนทรภู่ ได้แต่งขึ้น แล้วทูลเกล้าฯ ถวายตอนหนึ่งว่า

“ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด
เวียนแต่ตรัสถามไถ่ให้ใฝ่ฝัน
ถึงวัดนั้นวัดนี้เป็นนิรันดร์
ถึงเรื่องปั้นเขียนถากสลักกลึง
.....
คุณพระคลังสร้างใหม่ท้ายบุรี
ชื่อนพคุณทารามอร่ามศรี
ลงบัญชีชื่อวัดประยูรวงศ์
วัดพระยาศรีพิพัฒน์บัญญัตินาม
พระยาญาติการามงามระหง
ฯลฯ ฯลฯ”

ที่มาแห่ง “วัดรั้วเหล็ก”

  แม้คำเรียกขานอย่างเป็นทางการของพระอารามหลวงชั้นโทแห่งนี้ ในปัจจุบันคือ “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” แต่หากย้อนกลับไปกว่าสองศตวรรษ ชาวพระนครที่มีนิวาสสถานอยู่ในฝั่งธนบุรี โดยทั่วไปมักเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดรั้วเหล็ก” ด้วยเหตุที่มีรั้วเหล็กแวดล้อมเป็นกำแพงอยู่ตอนหน้าพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และเขามอ รั้วเหล็กนั้นสูงประมาณ ๓ ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธโบราณ คือ หอก ดาบ และขวาน มีสัณฐานเป็นกำแพงและ ซุ้มประตูเล็กๆเป็นตอนๆไป ล้อมอยู่ตอนหน้าอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญด้านหนึ่ง จากมุมวิหารคดอ้อมหน้าอุโบสถไปจนกำแพงประตูวัดด้านตะวันออก ยาว ๗๔ วา(๑๔๗ เมตร)ล้อมบริเวณภูเขาอีก ๒ ด้าน ด้านตะวันตก ยาว ๒๔ วา(๔๘ เมตร)ด้านใต้ ๒๑ วา ๒ ศอก(๔๓ เมตร)ล้อมเป็นกำแพงหน้าวัดตอนขวามือเข้ามา ยาว ๒๐ วา(๔๐ เมตร)ตอนซ้ายมือเข้ามา ๑๐ วา(๒๐ เมตร)ในหนังสือประวัติวัดประยุรวงศาวาส ที่จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระบุว่า รั้วเหล็กนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สั่งเข้ามาจากประเทศ อังกฤษพร้อมกับพรมผืนใหญ่และชุดโคมไฟกิ่งแก้ว เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาประยูรวงศ์จึงขอพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงพระอารามที่ตน สถาปนาขึ้นใหม่ โดยใช้น้ำตาลทรายสินค้าส่งออกของสยามอันเป็นที่ต้องการ ของตลาดโลกในเวลานั้น แลกเปลี่ยนกันตามน้ำหนักกับรั้วเหล็กแบบ “น้ำหนัก ต่อน้ำหนัก” คือ รั้วเหล็กมีน้ำหนักมากเท่าใด ก็ใช้น้ำตาลทรายน้ำหนักมาก เท่านั้นแลกเอาเรื่องรั้วเหล็กนี้ นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สั่งมาพร้อมกันกับ รั้วเหล็กในคราวเดียวกันนั้นเพื่อทูลเกล้าฯถวาย แต่ไม่โปรดเช่นกัน อาทิโคมกิ่งแก้ว ๓ โคม ประกอบด้วยโคมใหญ่ ๑ โคมและโคมเล็ก ๒ โคม จึงนำมาแขวนไว้ในพระอุโบสถ

มีบันทึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับรั้วเหล็กหลังจากการสร้างวัด ไปแล้วราว ๕๒ ปี เมื่อคราวที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม บุนนาค)เดินทางไปกรุงลอนดอน ในฐานะอัครราชทูตพิเศษ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๓ - ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๓ ว่า "ได้พบรั้วเหล็กในกรุงลอนดอน มีรูปสัณฐาน เช่น รั้วเหล็กที่วัดประยุรวงศ์นี้เหมือนกันล้อมเป็นกำแพงอยู่ในเมืองหลายแห่ง"

รั้วเหล็ก...เรื่องเล่าในอีกแง่มุม

  ความน่าสนใจของที่มารั้วเหล็ก ในอีกมุมหนึ่งปรากฎในบทความเรื่อง “พริฏิษ แฟกฏอรี”(British Factory)ตอนที่ ๕ ของบทความขนาดยาวเรื่อง รัตนศัพท์สงเคราะห์ เขียนโดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า ตวันสาย [สันนิษฐานว่า คือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)] ตีพิมพ์ครั้งแรกในทวีปัญญา ฉบับประจำเดือนมกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๔(พุทธศักราช ๒๔๔๙)ระบุที่มาของรั้วเหล็กแตกต่างออกไปว่า ผู้ที่นำรั้วเหล็กเข้ามา คือหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช หรือนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสกอต หรือที่ชาวพระนครในเวลานั้นเรียกว่า “นายหันแตร” ซึ่งราวปี พ.ศ.๒๓๖๘ ได้เช่าที่ดินของเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างตึกสองชั้น ๓ หลัง เพื่อใช้เป็นโกดังเก็บสินค้าห้างสรรพสินค้า และที่พักอาศัย เรียกว่า บริติช แฟคทอรี่ (British Factory)

  ครั้งหนึ่งนายหันแตรสั่งรั้วเหล็กบรรทุกเรือกำปั่นมาบอกขายในพระนคร เจ้าพนักงานได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ไม่โปรดด้วยมีพระราชดำริว่า ราคาแพงเกินไป สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เห็นเป็นโอกาสดี แต่ครั้นจะซื้อไว้ก็ราคาแพง ทั้งเงินที่มีในขณะนั้นยังไม่พอซื้อ จึงเจรจาขอแลกรั้วเหล็กกับน้ำตาลทราย ในลักษณะน้ำหนักต่อน้ำหนัก และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำรั้วเหล็กไปประดับ ณ วัดประยุรวงศาวาสเพื่อเป็นพุทธบูชา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาต นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์จึงนำรั้วเหล็กขึ้นกั้นที่หน้ากำแพงปูนรอบเขามอ และสระน้ำวัดประยุรวงศาวาส ปัจจุบันรั้วเหล็กอายุกว่า ๑๙๐ ปียังคงเป็นรั้วรอบขอบอาณาเขตให้วัดอย่างเข้มแข็งและมั่นคง แม้ บางส่วนอาจมีผุกร่อนบ้างไปตามกาลเวลา แต่ยังคงได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพดีเสมอ ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเอกลักษณ์ของรั้วเหล็กดังกล่าว เมื่อมีการจัดสร้างรั้วเหล็กเพิ่มเติมสำหรับกำหนดขอบเขต ในบริเวณอื่นๆ ภายในวัด ยังจัดให้มีการสร้างรั้วเหล็ก ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกับรั้วเหล็กเดิม ทาสีแดง แต่มีขนาดเล็ก กว่าเพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตถึงความแตกต่างระหว่าง รั้วดั้งเดิมและรั้วที่จัดทำขึ้นใหม่ เรียกได้ว่าถูกต้องตามหลักการบูรณะโบราณวัตถุและการจัดสร้างเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความงดงามกลมกลืนให้กับ ทัศนียภาพภายในขอบเขตพุทธาวาสอีกด้วย.

# เรียบเรียงประวัติวัด โดย คณะทีมงานจัดทำเว็บวัดประยุรวงศาวาส
# ข้อมูลจากหนังสือ ๑๙๐ ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร 

 
 
 
 
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 75 คน
วันนี้ 712 คน
เมื่อวานนี้ 1,931 คน
เดือนนี้ 34,003 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,622,242 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob