แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสโร ป.ธ.๙)

มเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสรูปที่ ๓ ครองวัดอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๕-๒๔๑๖ รวม ๔๑ ปี

ชาติภูมิและการบรรพชาอุปสมบท

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสโร) เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๕ ตรงกับวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๓๖ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีนามฉายาว่า อินฺทสโร แล้วพำนักอยู่ที่วัดราชบูรณะ

การศึกษาและการเผยแผ่

ขณะอยู่ที่วัดราชบูรณะ ท่านได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมสอบได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค ท่านเป็นพระธรรมกถึกแสดงพระธรรมเทศนาโวหารดีมีลีลาอย่างสาลิกาป้อนเหยื่อที่มีชื่อเสียงมีคนนิยมมาก ท่านมักเทศน์คู่กับพระมหาถึก เปรียญ ๘ ประโยค วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ก็ทรงพระเมตตาโปรดทั้ง ๒ รูปนี้ ครั้นเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ เมื่อจะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้คิดราชทินนามพระราชาคณะใหม่ ๒ นาม นั่นคือ ทรงตั้งพระมหาจี่เป็นพระอมรโมลี และทรงตั้งพระมหาถึกเป็นพระศรีวิสุทธิวงศ์ในคราวเดียวกันกับที่ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เพราะฉะนั้น ราชทินนามว่าพระอมรโมลีและพระศรีวิสุทธิวงศ์ทั้งสองนี้ จึงได้ถือกันสืบมาว่าเป็นราชทินนามสำหรับทรงตั้งเฉพาะพระเปรียญที่ทรงพระเมตตาโปรดมาอีกหลายรัชกาล

สมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๓๖๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระอมรโมลี พ.ศ. ๒๓๗๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพโมลี มีราชทินนามเต็มว่า “พระเทพโมลี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี” เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น สร้อยราชทินนามโดยทั่วไปนิยมใช้คำว่า “มหาคณฤศร” (ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ใช้คำว่า “มหาคณิสสร”) แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้เติมคำว่า “ธรรมกถึก” เข้าในสร้อยนามพระเทพโมลี (จี่) เป็นคำใหม่ว่า “มหาธรรมกถึกคณฤศร” จีงนับได้ว่า พระเทพโมลี (จี่) เป็นพระราชาคณะเพียงรูปเดียวที่ได้สร้อยนามพิเศษนี้ ทั้งนี้เพราะท่านเป็นพระธรรมกถึกมีชื่อเสียงมากดังกล่าวมาแล้ว

พ.ศ. ๒๓๘๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมติโลกาจารย์ มีสำเนาที่ทรงตั้งว่า “ให้พระเทพโมลี เป็นพระธรรมติโลกาจารย์ ญาณวิสารทนายก ติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี สถิตในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง”

พ.ศ. ๒๓๙๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม มีสำเนาที่ทรงตั้งดังนี้ “ให้เลื่อนพระธรรมไตรโลก ขึ้นเป็นพระพิมลธรรม มหันตคุณวิบุลยปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต อุดรทิศคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิตวัดประยุรวงศวรวิหาร พระอารามหลวง” มีนิจภัตร เดือนละ ๔ ตำลึง ๓ บาท มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัด/พระครูวินัยธร/พระครูวินัยธรรม/พระครูสรวิไชย/พระครูไกรสรวิลาศ/พระครูสมุห์/พระครูใบฎีกา และพระครูธรรมบาล

พ.ศ. ๒๔๐๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อวันพุธ เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ มีสำเนาที่ทรงตั้งโดยสังเขปดังนี้ “ทรงพระราชดำริห์ว่า พระพิมลธรรม พระพรหมมุนี พระอริยมุนี ๓ รูปนี้ ประกอบด้วยสติปัญญาวิทยาคุณ และรับธุระฉลองพระเดชพระคุณในการพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ควรจะเป็นปธานาธิบดี ที่พระราชาคณะผู้ใหญ่ได้ จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระพิมลธรรม เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระพรหมมุนี เป็นพระพิมลธรรม พระอริยมุนี เป็นพระพรหมมุนี ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงเจริญศุขสวัสดิ จิรัสถิติกาล ทฤฆายุ ในพระพุทธศาสนาเทอญ”

ครองวัดประยุรวงศาวาส

เมื่อพ.ศ.๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์พระอมรโมลี วัดราชบูรณะเป็นพระเทพโมลีแล้วโปรดให้อาราธนาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในปีเดียวกันนั้น ในยุคที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส มีพระราชาคณะรองเจ้าอาวาสต่อๆกันมา ๔ รูป คือ

๑. พระวิสุทธิโสภณ (น้อย) เป็นเปรียญ ๕ ประโยค ทูลลาสิกขาเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ เป็นหลวงสุนทรโวหาร

๒. พระวิสุทธิโสภณ (เหมือน) เป็นเปรียญ ๗ ประโยค ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราม

๓. พระสรภาณกวี (ทอง) เป็นเปรียญ ๖ ประโยค ทูลลาสิกขา

๔. พระประสิทธิสีลคุณ (เลี้ยง) เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม

เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๐ เกิดเพลิงไหม้กุฏิเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เครื่องบริขารและหนังสือพระไตรปิฎกถูกเพลิงไหม้เสียหายมาก เล่ากันว่าเจ้าอาวาสจุดเทียนลืมไว้ที่เครื่องบูชาพระในห้องแล้วไปในกิจนิมนต์ ในปีที่กุฏิถูกเพลิงไหม้นั้นเอง ท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นัยว่าเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงทำขวัญให้ ในสำเนาที่ทรงตั้งว่า “สถิตวัดมหาธาตุ เป็นเจ้าคณะกลาง” ด้วยทรงพระราชดำริจะให้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลางและให้ไปอยู่วัดมหาธาตุสืบต่อจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุที่เพิ่งถึงมรณภาพ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะที่ยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีสมุหพระกลาโหม ทูลขอให้อยู่ครองวัดประยุรวงศาวาสต่อไปแล้วสร้างตึกเป็นกุฏิหลังใหญ่ถวาย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(จี่) จึงคงอยู่วัดประยุรวงศาวาสตามเดิม และเปลี่ยนเป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ

ผลงานสำคัญ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสยาวนานถึง ๔๑ ปี ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงมาก มีลีลาเทศนาอย่างสาลิกาป้อนเหยื่อ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๑ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยุรวงศาวาส ถวายพระธรรมเทศนาเรื่องรัตนสูตร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ได้วางรากฐานให้สำนักวัดประยุรวงศาวาสเป็นแหล่งผลิตพระนักเทศน์ชั้นนำให้กับวงการพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีของการเทศนาไม่เคยขาดหายไปจากสำนักวัดประยุรวงศาวาสตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นต้นมา พระนักเทศน์สำนักวัดประยุรวงศาวาสในยุคหลังได้ยอมรับนับถือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นต้นแบบแห่งลีลาเทศนาสาลิกาป้อนเหยื่อและสืบทอดลีลาเทศนานี้กันต่อมา ซึ่งสร้างชื่อเสียงด้านการเทศนาให้กับวัดประยุรวงศาวาสมาตราบเท่าทุกวันนี้

วัดประยุรวงศาวาสในยุคที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นเจ้าอาวาสมีความเจริญมาก นับแต่เสนาสนะที่สร้างเสร็จบริบูรณ์สะดวกสบายแก่ภิกษุสามเณรผู้อยู่อาศัย เจ้าอาวาสของวัดมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เจริญด้วยยศและอำนาจ สามารถที่จะเกื้อกูลแก่พระสงฆ์สามเณรด้วยจตุปัจจัยทั้ง๔ มีบิณฑบาตเป็นต้น จนเป็นที่ปรากฏแก่ชาวต่างประเทศ ดังข้อความในจดหมายเหตุ เรื่องมิชชันนารี ฉบับที่หมอ ดี.บี.บรัดเล แต่งนั้น มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๘ วันที่ในเวลาแต่เช้า พวกมิชชันนารีไปหาเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกระทรวงกรมท่าโดยประสงค์จะให้ท่านเร่งการสร้างเรือนสำหรับอยู่ ๒ หลังให้แก่พวกมิชชันนารี คณะ เอ.บี.ซี.เอฟ.เอม. ซึ่งท่านได้สัญญาไว้และลงมือสร้างแล้วนั้น ให้สำเร็จในเวลาเร็วขึ้นสักหน่อย พบท่านยืนอยู่ที่หน้าประตูใส่บาตรพระสงฆ์ซึ่งเรียงกันเข้ามาทีละองค์ ๆ ”

ในยุคที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เป็นเจ้าอาวาสประยุรวงศาวาสนี้ มีพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัยในวัดมากกว่า ๒๐๐ รูป เจ้าอาวาสส่งเสริมการศึกษาพระธรรมวินัย การเล่าเรียนพระธรรมวินัยจึงเจริญมาก เพราะมีทั้งอาจารย์ฆราวาสที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาประยุรวงศ์และพวกสัตบุรุษจ้างมา ทั้งพระสงฆ์ในวัดสั่งสอนกันเองอย่างบริบูรณ์ มีเปรียญเกิดขึ้นในยุคนี้ ๑๒ รูป นับว่าเป็นจำนวนมากตามมาตรฐานการสอบพระปริยัติธรรมในยุคนั้นซึ่งนาน ๆ ทีจึงจะมีการสอบกันครั้งหนึ่ง เล่ากันว่า เมื่อสอบเป็นเปรียญได้ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ แล้วจะทูลลาสิกขาไม่ได้

มรณภาพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ถึงมรณภาพเมื่อวันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ตรงกับวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ รวมอายุได้ ๘๑ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ได้ทรงนิพนธ์โคลงว่าด้วยมรณภาพของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ไว้ในหนังสือบัญชีน้ำฝน ดังนี้

สมเด็จพระพุทธเจ้า,     เจ้า คณะเหนือ
นักเทศน์วิเศษเหลือ      เพราะพริ้ง
อาสาฬหะแรมเมื่อ        สามค่ำ
ถึงพิราลัยทิ้ง                ร่างไว้ไปศูนย์

เรียบเรียงประวัติ บทความธรรม โดยวัดประยุรวงศาวาส

 
 
 
 
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 65 คน
วันนี้ 740 คน
เมื่อวานนี้ 1,182 คน
เดือนนี้ 40,241 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,628,480 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob