แนะนำวัดประยุรวงศาวาส

oooooop

 

พระบรมสารีริกธาตุที่วัดประยุรวงศาวาส

ลำดับเหตุการณ์การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดประยุรวงศาวาส 
พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ 
...พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเมธีธรรมาภรณ์ ประธานองค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาสในขณะนั้นได้ร่วมกับคณะกรรมการองค์การเผยแผ่ดำเนินการชำระประวัติวัดประยุรวงศาวาสด้วยการปรับปรุงเนื้อหาจากหนังสือเรื่อง ประวัติย่อวัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อชำระแล้วได้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุ ๘๐ ปี ของพระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในขณะนั้น ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพประสิทธิคุณ 
...เนื่องจากหนังสือ ประวัติย่อวัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี ได้บันทึกเกี่ยวกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสไว้ว่า “เชื่อกันว่าพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ” ซึ่งแสดงถึงความเชื่อสืบๆกันมาว่ามีพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ภายในพระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส โดยไม่มีพยานบุคคลรู้เห็นหรือเอกสารหลักฐานชี้ชัดว่าบรรจุไว้ตรงไหนและตั้งแต่เมื่อไร พระธรรมโกศาจารย์และคณะกรรมการชำระประวัติวัดประยุรวงศาวาสในครั้งนั้นจึงได้สำรวจหาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุโดยคลานเข้าไปสำรวจภายในห้องโถงใหญ่กลางองค์พระเจดีย์ตรงที่เป็นรูปโอคว่ำหรือระฆังคว่ำ คณะกรรมการไม่พบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่กลับพบว่าเสาอิฐแกนกลางของพระเจดีย์ได้ล้มไปพิงผนังพระเจดีย์ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมองมองด้วยตาเปล่าก็เห็นว่าองค์พระเจดีย์เอียงไปทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยาจริง คณะกรรมการบางท่านยังพูดติดตลกว่า ปล่อยพระเจดีย์ให้เอียงไว้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันเพราะจะเป็นของแปลกเหมือนหอเอนปิซาที่อิตาลี ถ้าไม่พังลงมาเสียก่อน 
...ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระธรรมโกศาจารย์ได้ตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ก่อนที่จะพังลงมา 
วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ 
...รองศาสตราจารย์กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบังได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมาสำรวจตรวจสอบสภาพขององค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ตามที่พระธรรมโกศาจารย์ ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในขณะนั้นได้ขอความร่วมมือไป คณะผู้เชี่ยวชาญได้รายงานว่ายอดพระบรมธาตุมหาเจดีย์เอียงไปทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๑ เมตรและได้เสนอแนะวิธีกาบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์อย่างละเอียดโดยแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน ดังนี้ 
(๑) การบูรณะซ่อมแซมและทาสีภายนอกองค์พระเจดีย์ประธานและเจดีย์บริวาร ๑๘ องค์ 
(๒) การบูรณะซ่อมแซมเสาอิฐแกนกลางภายในห้องโถงของพระเจดีย์ที่ล้มไปพิงผนังพระเจดีย์ 
(๓) การฉีดกาวซีเมนต์ช่วยยึดฐานรากขององค์พระเจดีย์ไม่ให้ทรุดเอียงต่อไป 
...งบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ทั้งสามขั้นตอนอยู่ในราว ๒๕-๓๐ ล้านบาท 
วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ 
...เมื่อพระธรรมโกศาจารย์ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสรูปที่ ๑๔ ทางวัดประยุรวงศาวาสได้มีคำสั่งยกเลิกเส้นทางจราจรที่เคยปล่อยรถยนต์เข้ามาภายในบริเวณวัดแล้ววนอ้อมพระบรมธาตุมหาเจดีย์ไปออกทางด้านหลังวัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้องค์พระเจดีย์ทรุดเอียงยิ่งขึ้น 
--------------------------------------------------------------------------------
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ 
...พระธรรมโกศาจารย์ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อขออนุญาตดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ตามขั้นตอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบังเสนอแนะ มีข้อความตอนท้ายหนังสือว่า 
“ปัจจุบัน พระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่เกิดการเอียงและทรุดตัวลงในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในส่วนบนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์มีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ หากไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เร่งด่วน อาจทำให้ยอดพระเจดีย์หักโค่นลงมาได้และอาจจะเกิดอันตรายได้” 
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๙ 
...พลเรือตรีประยุทธ์ เกิดภู่ ประธานอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคและผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบรี มีหนังสือถึงเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสขออนุญาตประดับไฟส่องสว่างองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ในยามค่ำคืน เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี 
--------------------------------------------------------------------------------
วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙ 
...นางสมศรี เอี่ยมธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากรมีหนังสือตอบอนุญาตให้วัดประยุรวงศาวาสดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ได้ตามกรรมวิธีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบังนำเสนอ แต่ไม่อนุญาตให้บุโมเสคทองบริเวณส่วนยอดองค์พระเจดีย์ 
--------------------------------------------------------------------------------
วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๙ 
...เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมศิลปากรแล้ว พระธรรมโกศาจารย์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในงานสงกรานต์ของวัดประยุรวงศาวาสว่า ทางวัดประยุรวงศาวาสจะดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ จึงถือได้ว่าโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ได้รับการเปิดตัวแล้วตั้งแต่วันนี้ 
--------------------------------------------------------------------------------
วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๙ 
...เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำประกาศนั้น พระธรรมโกศาจารย์ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการเตรียมดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ มีพระวิสุทธิภัทรธาดา เป็นประธาน โดยให้มีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารแบบแปลนและพิจารณาหาผู้รับเหมารวมทั้งวางแผนนโยบายเพื่อเสนอเจ้าอาวาสพิจารณาดำเนินการต่อไป 
วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙ 
...พระมหานายกะ สยามนิกาย ฝ่ายมัลวัตแห่งศรีลังกา มาเยี่ยมชมวัดประยุรวงศาวาส ได้รับปากพระธรรมโกศาจารย์ว่าจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุภายในองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหตุที่พระธรรมโกศาจารย์ได้เอ่ยปากขอพระบรมสารีริกธาตุจากพระมหานายกะศรีลังกาก็เพราะว่าไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายในองค์พระเจดีย์ที่ตรงไหนและตั้งแต่เมื่อไร แม้ประวัติวัดประยุรวงศาวาสก็บันทึกไว้อย่างคลุมเครือว่า “เชื่อกันว่าพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ” 
วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ 
...พระธรรมโกศาจารย์ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ๓ ชุด ประกอบด้วย 
(๑) คณะกรรมการพิจารณาสอบราคา มีพระราชธรรมวาทีเป็นประธาน และพระครูโสภณปริยัตยานุกิจเป็นกรรมการและเลขานุการ 
(๒) คณะกรรมการตรวจการจ้าง มีพระราชปฏิภาณมุนีเป็นที่ปรึกษา มีพระวิสุทธิภัทรธาดาเป็นประธาน มีนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถานในขณะนั้น เป็นรองประธาน มีรองศาสตราจารย์สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง นายสุดชาย พานสุวรรณ จากกรมศิลปากร นายดิลก ตีระวนิช จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการ และมีพระครูวินัยธรวัลลพ โกวิโล เป็นกรรมการและเลขานุการ 
(๓) คณะกรรมการควบคุมงาน มีพระราชปริยัติดิลก เป็นที่ปรึกษา พระสุนทรวิหารการ เป็นประธาน พระครูสุทธิปริยัตยาทรเป็นรองประธาน และพระครูโสภณปริยัตยานุกิจเป็นกรรมการและเลขานุการ 
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ 
...คณะกรรมการพิจารณาสอบราคาได้เปิดซองพิจารณาราคาในการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ในขั้นตอนที่ ๑ (ทาสีและซ่อมแซมภายนอก) ซึ่งเสนอโดย ๔ บริษัทที่กรมศิลปากรรับรองผลงาน คณะกรรมการพิจารณาสอบราคาได้มีมติเลือกบริษัทดำรงก่อสร้าง วิศว จำกัด ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นบริษัทดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ 
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ 
...วัดประยุรวงศาวาสได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทดำรงก่อสร้าง วิศว จำกัดให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์เฉพาะขั้นตอนที่ ๑ คือซ่อมแซมและทาสีภายนอกองค์พระเจดีย์ประธานและเจดีย์รายล้อม ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เพื่อร่วมฉลองในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา 
วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐ 
...บริษัทดำรงก่อสร้าง วิศว จำกัดทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นศิริมงคลในการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ 
วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ 
...พระธรรมโกศาจารย์ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการบูรณะหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ องค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นเช่นเดียวกับคณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ 
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้สร้างพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาข้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์เพื่อเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ อุทิศให้บิดามารดาของท่าน ปัจจุบันยังมีจารึกอยู่ที่ประตูทางเข้าภายในศาลาเป็นโคลง ๔ บท โคลงหนึ่งในนั้นเป็นดังนี้ 
พรินทร์ต้นต่อสร้อย สมญา 
ปริยัติธรรมศาลา เพียบพร้อง 
คือเป็นที่ศึกษา ส่วนพุทธ-พจน์แฮ 
ภิกษุสามเณรซร้อง ทั่วหล้ามาเรียน. 
...ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๙ กระทรวงธรรมการได้ใช้หอพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาแห่งนี้เป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนในวัดเป็นแห่งแรก ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของโรงเรียนหนังสือไทย สำนักวัดประยุรวงศาวาส หอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาจึงเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ 
...เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๖พระพุทธวรญาณเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในขณะนั้นได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อขอความอนุเคราะห์ในการบูรณปฏิสังขรณ์หอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา เรื่องได้ค้างอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา ๔ ปี เมื่อพระธรรมโกศาจารย์ได้สอบถามเรื่องนี้ไปที่กรมศิลปากรจึงมีการดำเนินการต่อไปตามบันทึกของสำนักโบราณคดีฯ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน ลงวันที่ ๔ กรกฏาคม ๒๕๕๐ วัดประยุรวงศาวาสได้รับอนุญาตให้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์หอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาได้ เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ทางวัดประยุรวงศาวาสวางแผนที่จะใช้หอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดต่อไป 
วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๐ 
.พระธรรมโกศาจารย์พร้อมด้วยคณะจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและวัดประยุรวงศาวาสจำนวน ๗๓ รูป/คน ได้เดินทางไปเยือนศรีลังกาตามคำเชิญของรัฐบาลศรีลังกา ในโอกาสนี้ พระธรรมโกศาจารย์ ได้รับมอบถวายพระบรมสารีริกธาตุจากวัดถูปารามซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในศรีลังกา คณะที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้มีมติมอบพระบรมสารีริกธาตุให้พระธรรมโกศาจารย์นำไปบรรจุในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ของวัดประยุรวงศาวาส 
วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๐ 
...พระธรรมโกศาจารย์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากวัดถูปารามถึงประเทศไทย ได้สั่งการให้องค์การสาธารณูปการของวัดจัดทำมณฑปรับรองไว้ที่วิหารพระพุทธนาคและให้ทำกระจกนิรภัยครอบมณฑปอีกด้วย ทั้งกำหนดให้มีการแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสำนักงานอธิการบดีที่วัดมหาธาตุมายังวัดประยุรวงศาวาสในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ 
วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๐ 
...หนึ่งวันก่อนพิธีแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุมายังวัดประยุรวงศาวาส มีการประชุมสัมมนาพระนักเผยแผ่ทั่วประเทศจำนวน ๑,๒๐๐ รูป ที่ลานหน้าวิหารพระพุทธนาค ในช่วงบ่ายฝนตกลงมาอย่างหนัก ฟ้าผ่าองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ๒ ครั้งติดกันเป็นเหตุให้ไฟไหม้แผงไฟฟ้าสำนักงานเจ้าภาค ๒ เนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องเสียงในพระอุโบสถและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานฌาปนสถานของวัดเสียหายใช้การไม่ได้ 
วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ 
...พิธีแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุเพื่อมาประดิษฐานที่วิหารพระพุทธนาควัดประยุรวงศาวาส โดยตั้งขบวนแห่จากสะพานข้างวัดโมลีโกยารามผ่านตลาดนกกระจอกเข้าถนนเทศบาลสาย ๑ มีคนจำนวนมากร่วมขบวนแห่และต้อนรับบูชาตามสองข้างทาง เป็นภาพที่ประทับตราตรึงใจอย่างยากที่จะลืมเลือน พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิงเป็นประธานในการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่มณฑปในวิหารพระพุทธนาคครั้งนี้ 
วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 
...มีการประชุมคณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และคณะกรรมการดำเนินการบูรณะหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาที่สำนักงานเจ้าคณะภาค ๒ พระธรรมโกศาจารย์เป็นประธานที่ประชุม คณะกรรมการมีมติคัดเลือกบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดให้เป็นผู้บูรณะหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด กำหนดซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐๐ วัน คณะกรรมการยังนึกไม่ออกว่า เมื่อซ่อมหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาเสร็จแล้วทางวัดจะนำของอะไรไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของวัดแห่งนี้ 
...นอกจากนั้น คณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ยังได้พิจารณาเรื่องการขึ้นสำรวจบนองค์พระเจดีย์เพื่อหาจุดสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกาก่อนที่จะมีการรื้อนั่งร้านรอบองค์พระเจดีย์ลงมาในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา 
...ตั้งแต่เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์มาเป็นเวลาเกือบ ๖ เดือนยังไม่เคยมีกรรมการท่านใดปีนขึ้นไปสำรวจความเรียบร้อยของงานบนองค์พระเจดีย์ คณะกรรมการเพียงอาศัยภาพถ่ายและคำบอกเล่าประกอบการพิจารณาในการประชุมแต่ละครั้ง พระธรรมโกศาจารย์เสนอว่าการจะกำหนดจุดสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกาจากด้านล่างคงเป็นไปได้ยาก บูรพาจารย์ผู้สร้างพระเจดีย์อาจจะทำที่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนองค์พระเจดีย์ไว้แล้วก็ได้ ทางที่ดีน่าจะให้กรรมการบางท่านปีนขึ้นไปสำรวจหาที่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนองค์พระเจดีย์ 
...รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ได้อาสาปีนขึ้นไปสำรวจบนองค์พระเจดีย์แทนกรรมการทั้งหมด เมื่อเห็นว่าไม่มีกรรมการฝ่ายสงฆ์รูปใดอาสาปีนขึ้นไปสำรวจบนองค์พระเจดีย์ พระธรรมโกศาจารย์จึงกล่าวในที่ประชุมว่าถ้ารองศาสตราจารย์สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถีปีนขึ้นไปบนองค์พระเจดีย์ พระธรรมโกศาจารย์จะปีนขึ้นไปด้วย 
...ที่ประชุมเห็นว่ารองศาสตราจารย์สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถีควรรีบขึ้นไปตรวจงานบนองค์พระเจดีย์โดยเร็วก่อนที่บริษัทผู้รับเหมาจะส่งงานงวดสุดท้าย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์จึงนัดกับบริษัทผู้รับเหมาว่าจะปีนขึ้นไปตรวจงานและสำรวจที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนองค์พระเจดีย์ในวันรุ่งขึ้นคือ ๔ พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันทอดกฐินพระราชทานของวัดประยุรวงศาวาส 
วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 
...เวลา ๘.๓๐ น. รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถีและคณะของบริษัทผู้รับเหมามาถึงวัดประยุรวงศาวาสพร้อมด้วยเข็มขัดนิรภัยเตรียมที่จะปีนขึ้นบนองค์พระเจดีย์ แต่พระธรรมโกศาจารย์ยังติดซ้อมรับกฐินอยู่จึงขอให้กรรมการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์บางรูปปีนขึ้นบนองค์พระเจดีย์แทน กรรมการรูปหนึ่งตอบทีเล่นทีจริงว่าตัวท่านขอไม่ขึ้นบนองค์พระเจดีย์เพราะยังไม่ได้รับกฐิน พระธรรมโกศาจารย์จึงแจ้งให้คณะที่จะปีนขึ้นองค์พระเจดีย์รอจนกว่าการซ้อมรับกฐินจะเสร็จ 
...เวลา ๙.๓๐ น. เมื่อซ้อมรับกฐินเสร็จออกจากพระอุโบสถแล้ว พระธรรมโกศาจารย์ได้ไปหาคณะที่จะปีนขึ้นบนองค์พระเจดีย์ เมื่อมีผู้ถามว่าจะขึ้นบนองค์พระเจดีย์จริงหรือ พระธรรมโกศาจารย์ไม่ตอบคำถามแต่นำเข็มขัดนิรภัยมาคาดทับประคตเอว เมื่อคาดแล้ว เข็มขัดนิรภัยมีความยาวประมาณ ๑ เมตร มีไว้สำหรับผูกเกี่ยวกับราวบันไดเวลาหยุดสำรวจ แต่เวลาที่ไต่บันไดไม่สามารถใช้ผูกเกี่ยวกับอะไรได้ 
...พระธรรมโกศาจารย์และคณะได้ไต่บันไดนั่งร้านขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงปลายสุดของปล้องไฉนซึ่งอยู่ที่ความสูง ๕๐ เมตร องค์พระเจดีย์มีความสูงทั้งสิ้น ๖๐ เมตร เมื่อขึ้นมาบนองค์พระเจดีย์แล้ว คณะได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานบูรณะและเสนอให้แก้ไขตามจุดบกพร่องซึ่งส่วนมากจะอยู่เหนือฐานสี่เหลี่ยมขึ้นไปเพราะเป็นจุดที่อยู่สูงลอดหูลอดตาของผู้รับเหมา 
...เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมองลงมาจากด้านบนองค์พระเจดีย์ก็ได้เห็นบริเวณวัดประยุรวงศาวาสในมุมมองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รั้วเหล็กมีความงดงามที่แปลกประหลาด จากมุมมองบนพระเจดีย์เราสามารถมองเห็นรั้วเหล็กสีแดงทอดยาวเป็นผืนเดียวกันตั้งแต่ประตูวัดจนถึงบริเวณใกล้กับพระเจดีย์ 
เมื่อคณะสำรวจส่วนใหญ่กำลังทยอยลงข้างล่าง พระธรรมโกศาจารย์ยังรีรออยู่ข้างบนที่จุดสูงสุดของปล้องไฉนแล้วยกมือพนมพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานขอให้สามารถกระทำการใดๆที่สำเร็จประโยชน์สูงส่งและยิ่งใหญ่เหมือนพระเจดีย์นี้แก่วัดประยุรวงศาวาสและพระพุทธศาสนาด้วยเถิด 
...หลังจากอธิษฐานจิตแล้ว พระธรรมโกศาจารย์รู้สึกเชื่อมั่นว่าต้องมีพระบรมสารีริกธาตุและกรุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่บนองค์พระเจดีย์ ดังนั้นเมื่อลงถึงพื้นดินแล้ว พระธรรมโกศาจารย์ได้เรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมงานซึ่งมีพระสุนทรวิหารการ เป็นประธานในคืนนั้นเมื่อเวลา ๒๑.๐๐ น. และมอบหมายให้คณะกรรมการรับผิดชอบกำกับดูแลการสำรวจหาพระบรมสารีริกธาตุและเปิดกรุบนองค์พระเจดีย์ในวันรุ่งขึ้น 
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 
...วันรุ่งขึ้น พระธรรมโกศาจารย์พร้อมด้วยคณะกรรมการควบคุมงานซึ่งมีพระสุนทรวิหารการ เป็นประธาน พระราชปริยัติดิลกเป็นที่ปรึกษา พระครูสุทธิปริยัตยาทร เป็นกรรมการ ได้นิมนต์พระครูพิศิษฏ์ธรรมวิธูรและพระมหาขจร ฐิตสีโลมาเป็นสักขีพยานการส่งคณะสำรวจหาพระบรมสารีริกธาตุและเปิดกรุบนองค์พระเจดีย์ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๕.๓๐ น. พระธรรมโกศาจารย์ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและขอขมาอภัยโทษที่อาจมีการล่วงเกินบ้างในครั้งนี้ 
...คณะสำรวจซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุละคฤหัสถ์ราว ๑๐ รูป/คนซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของวัดและคนงานของบริษัทผู้รับเหมาใช้เวลาสำรวจด้วยการเคาะตามจุดต่างๆ อยู่ประมาณ ๒ ชั่วโมง จนกระทั่งเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. จึงได้พบห้องลับซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกบริเวณฐานของระฆังหรือโอคว่ำ พระธรรมโกศาจารย์ได้ขึ้นไปกำกับการเปิดห้องลับนี้ด้วยตนเองและดูแลการขนของทุกชิ้นรวมทั้งผงกรุลงมาพักที่ศาลา ๑ 
...ห้องลับนี้กว้างประมาณ ๑ ฟุตเศษ ยาวประมาณ ๒ ฟุตและลึกประมาณ ๒ ฟุต ฝาผนังฉาบปูนเรียบ แสดงว่าผู้สร้างน่าจะเตรียมทำห้องลับนี้พร้อมกับสร้างพระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ ที่พื้นด้านในสุดยังเจาะเป็นหลุมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ฟุต ลึก ๑ ฟุต มีการก่ออิฐสองชั้นปิดปากห้องลับแล้วฉาบปูนทาสีขาวทับไว้ย่างกลมกลืนจึงไม่มีใครสังเกตพบตลอดเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา 
...เมื่อเจาะทะลุอิฐสองชั้นเข้าไป สิ่งแรกที่กระทบสายตาคือเศียรพระพุทธรูป มีกระดานชนวนวางพิงฝาผนังด้านในสุด สิ่งที่ตั้งอยู่ด้านหน้ากระดานชนวนคือเครื่องเขินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เครื่องเขินนี้ทำด้วยไม้ไผ่ถูกรายล้อมด้วยพระพุทธรูปบูชาสมัยต่างๆ มีหลุมอยู่ใต้เครื่องเขิน ภายในหลุมมีพระพุทธรูปบูชาจำนวนมาก 
...เนื่องจากเครื่องเขินนี้ถูกรายล้อมด้วยพระพุทธรูปบูชาสมัยต่างๆ สิ่งที่บรรจุอยู่ภายในเครื่องเขินจึงมีความสำคัญที่สุดในห้องลับนี้ซึ่งเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อฝาเครื่องเขินถูกเปิดออกก็พบสถูปจำลองทรงเดียวกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ส่วนฐานของสถูปนี้ทำด้วยเงินด้านบนครอบด้วยกระจกสีขาวใส ภายในสถูปมีแผ่นทองคำม้วนกลมขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยห่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๔ องค์ 
...พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดมีสีขาว ขนาดเท่าเมล็ดถั่วและข้าวสารหัก เมื่อพิเคราะห์ดูสีและสัณฐานแล้วก็สอดคล้องกับลักษณะพระบรมสารีริกธาตุที่พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาไว้ในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตร พระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้เป็นประเภทที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นอกจากนี้ยังพบพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในผอบเงินส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในล็อกเก็ตรูปหัวใจทำด้วยเงิน 
...หลักฐานสำคัญมากอยู่ที่กระดานชนวนซึ่งวางพิงผนังด้านในสุดของห้องลับ ตอนที่กระดานชนวนวางอยู่ที่เดิมนั้นยังมีกรอบไม้ติดอยู่ด้วย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ยกกระดานชนวนออกจากที่ตั้งแล้วส่งให้พระธรรมโกศาจารย์ กรอบไม้ได้หลุดลุ่ยไปหมดเพราะความเก่าแก่ตามกาลเวลา กระดานชนวนนี้เขียนด้วยลายมือพระสมุห์ปุ่นทั้งสองด้าน เราสามารถอ่านได้ชัดเจน มีทั้งอักษรขอมและอักษรไทย ด้านแรกเป็นดวงพระพุทธเจ้า ดวงพระสมุห์ปุ่นและดวงพิชัยสงคราม ด้านที่ ๒ เป็นคำบูชาพระเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ คำบูชาเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่บรรจุอยู่ในห่อแผ่นทองคำภายในเครื่องเขินที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของกระดานชนวนนี้คือพระบรมสารีริกธาตุ 
...ด้านที่ ๒ ของกระดานชนวนยังมีคำจารึกภาษาไทยว่า 
“พระสมุ่หปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีมะแม ๑๒๖๙ พระพุทธศาสนา ๒๔๕๐ เป็นส่วนอดีต ๒๕๔๙ ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่ พระวิริยาธิกโพธิญาณ ในอนาคตกาลเทอญ” 
...ข้อความตอนนี้ในจารึกกระดานชนวนได้ระบุปีที่บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ว่าเป็น พ.ศ. ๒๔๕๐ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ วัดประยุรวงศาวาสในปีนั้นมีพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน)เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เจ้าอาวาสรูปต่อมาคือพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่)ได้บูรณะพระบรมธาตุมหาเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็เป็นการบูรณะเฉพาะส่วนยอดขององค์พระเจดีย์ที่ถูกฟ้าผ่าจนหักลงมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๑๔ สองปีก่อนที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(จี่) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสรูปที่ ๓ จะถึงมรณภาพ เนื่องจากพระธรรมไตรโลกาจารย์ทำการบูรณะเฉพาะส่วนยอดขององค์พระเจดีย์จึงไม่มีการแตะต้องส่วนกลางขององค์พระเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบในปี ๒๕๕๐ นี้ 
...ถ้าพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสรูปปัจจุบันไม่ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สร้างพระเจดีย์มา ๑๗๙ ปี ก็จะไม่มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ ที่กล่าวว่าเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดก็เพราะทางวัดวางแผนไว้ในขั้นตอนที่ ๓ ของการบูรณะว่าจะฉีดกาวซีเมนต์ลงไปซ่อมแซมฐานรากของพระเจดีย์ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเพื่อการนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท 
...ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าพระธรรมโกศาจารย์ไม่ได้พระบรมสารีริกธาตุมาจากศรีลังกาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ ก็ไม่มีความจำเป็นที่พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสจะต้องปีนขึ้นบนองค์พระเจดีย์ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เพื่อสำรวจหาสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกา เมื่อกลับลงมาแล้วท่านได้สั่งการในคืนนั้นให้มีคณะขึ้นไปเคาะสำรวจโดยละเอียดในวันรุ่งขึ้นซึ่งก็คือวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ จนเป็นที่มาของการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุในวันเดียวกันนี้ 
เมื่อถูกถามบ่อยๆว่าทำไมท่านจึงทำอย่างที่กล่าวมานั้น พระธรรมโกศาจารย์ได้แต่ตอบว่า “คงจะเป็นเพราะพระธาตุดลใจ” ทั้งนี้เพราะท่านหาคำตอบที่ดีกว่านี้ไม่ได้นั่นเอง 
...เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสนับร้อยปีจึงไม่มีใครค้นพบก่อนหน้านี้ พระธรรมโกศาจารย์ก็จะตอบว่าพระสมุห์ปุ่นได้จารึกไว้ในกระดานชนวนมิใช่หรือว่าการบรรจุในพระเจดีย์นี้มี 
“พระพุทธศาสนา ๒๔๕๐ เป็นส่วนอดีต ๒๕๔๙ ส่วนอนาคต” 
...ถ้าย้อนไปอ่านลำดับเหตุการณ์นี้ที่เล่ามาโดยลำดับก็จะพบด้วยความประหลาดใจว่าเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙ รองอธิบดีกรมศิลปากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากรมีหนังสือตอบอนุญาตให้วัดประยุรวงศาวาสดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ได้ตามที่มีหนังสือขออนุญาตไป 
...ขอกลับไปเล่าเรื่องการเปิดห้องลับบนพระเจดีย์ต่อว่า เมื่อฉายไฟเข้าไปภายในห้องลับครั้งแรกนั้น จำได้ติดตาว่าสิ่งที่สะท้อนแสงเป็นประกายแวววับคือพระพุทธรูปทองคำซึ่งสวยงามมากเพราะทองคำไม่ขึ้นสนิม ทองอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นทอง แม้เวลาจะล่วงเลยไปเป็นร้อยปีทองก็ยังสุกปลั่ง เพราะฉะนั้นในกรุนี้เราพบว่าโบราณท่านใช้ทองคำเป็นเครื่องห่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระพุทธรูปบูชาที่ทำด้วยโลหะอย่างอื่นมักจะเปลี่ยนสีและมีสนิมกรุจับเป็นส่วนมาก พระพุทธรูปบูชามีหลายสมัย บางองค์ทำด้วยไม้บุเงินบุทอง รวมพระพุทธรูปในห้องลับกรุที่ ๑ ทั้งสิ้นประมาณ ๒๗๐ องค์ 
...พระธรรมโกศาจารย์ประกาศผ่านสื่อมวลชนในคืนนั้นว่าพระพุทธรูปบูชาในกรุที่ ๑ ทั้งหมด ทางวัดประยุรวงศาวาสจะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด นั่นคือในหอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาที่ตั้งอยู่ติดกับองค์พระเจดีย์ ซึ่งทางวัดเพิ่งเลือกบริษัทผู้รับเหมามาดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ ๓ วันที่ผ่านมา โดยมีกำหนดบูรณะให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐๐ วัน 
วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 
...เมื่อค้นพบห้องลับในกรุที่ ๑ ไปแล้วพระเถระอาวุโสของวัด ๓ รูป คือพระสุนทรวิหารการ พระครูพิศิษฏ์ธรรมวิธูรและพระมหาขจร ฐิตสีโลต่างยืนยันว่ายังมีกรุที่ ๒ เหลืออยู่บนองค์พระเจดีย์เพราะท่านทั้งสามอยู่ร่วมในเหตุการณ์ตอนบรรจุกรุนี้ในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ประเด็นปัญหาก็คือทั้งสามท่านให้ข้อมูลเรื่องจุดที่บรรจุขัดกันเอง สองท่านบอกว่าบรรจุอยู่ทางด้านทิศใต้ อีกท่านหนึ่งบอกว่าบรรจุอยู่ทางด้านทิศตะวันออก 
...พระธรรมโกศาจารย์เห็นว่าต้องรีบสำรวจและนำเอากรุที่ ๒ ลงมาเพราะยังเหลือเวลาอีกกว่าครึ่งเดือนก่อนที่จะรื้อนั่งร้าน ยิ่งมีข่าวเรื่องกรุที่ ๒ แพร่สะพัดไปอย่างนี้ ทางวัดต้องจัดเวรยามเฝ้าองค์พระเจดีย์ทั้งคืน 
...ดังนั้นในวันที่ ๗ พฤศจิกายน เวลา ๙.๓๐ น. คณะสำรวจได้ขึ้นไปสำรวจหากรุที่ ๒ บนองค์พระเจดีย์ จนกระทั่งเวลา ๑๑.๐๐ น. ได้พบกรุที่ ๒ บนองค์พระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก พระธรรมโกศาจารย์ได้ขึ้นไปกำกับดูแลการเปิดกรุด้วยตนองเป็นการประกันว่าของทุกอย่างต้องนำลงมาที่ศาลา ๑ 
...กรุที่ ๒ ไม่ได้เป็นห้องฉาบปูนเรียบร้อยเหมือนกรุที่ ๑ แต่เป็นการเจาะช่องเข้าไปในองค์พระเจดีย์เป็นการชั่วคราว มีอิฐรายล้อมผนังโดยรอบ ช่องนี้มีความกว้างและยาวประมาณ ๑ ฟุต ภายในช่องพบบาตรบรรจุพระเครื่องหลายยุคหลายสมัยประเมินค่าไม่ได้ล้นออกนอกบาตรจำนวนมาก ภายในบาตรพบแผ่นทองขนาดเท่าฝ่ามือ ๓ แผ่น ทุกแผ่นมีจารึกภาษาไทยข้อความเดียวกันว่า 
“วันพุธที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๔ ตรงกับวันมาฆบูชา เพ็ญกลางเดือน ๔ ได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจดีย์นี้ พร้อมด้วยพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษและพระเครื่องประเภทต่างๆ” 
...ด้านข้างของบาตรมีสถูปรูปทรงเดียวกับองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์สูงประมาณ ๑ คืบวางอยู่ สถูปนี้ทำด้วยโลหะผสม เนื่องจากเกลียวเป็นสนิมจึงเปิดไม่ออกจนกระทั่งวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ คณะกรรมการของวัดจึงสามารถเปิดออกได้โดยใช้น้ำยาเคมีช่วย ภายในสถูปเราพบหลอดแก้วหลอดหนึ่งและพระเครื่อง ๒๓ องค์ ภายในหลอดแก้วมีแผ่นทองคำพับเป็นสี่เหลี่ยม เมื่อคลี่ออกมาก็พบพระบรมสารีริกธาตุ ๕ องค์อยู่ในแผ่นทองคำนั้น สอดคล้องกับกรุที่ ๑ ที่ห่อพระบรมสารีริกธาตุไว้ในหลอดทองคำขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยดังกล่าวมาแล้ว พระบรมสารีริกธาตุในกรุที่ ๒ มีสีขาวและสีทอง มีสัณฐานเมล็ดถั่ว 
...วัดประยุรวงศาวาสได้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งจากกรุที่ ๑ และกรุที่ ๒ ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวให้คนได้สักการบูชาที่วิหารพระพุทธนาคก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุบางองค์กลับไปบรรจุในพระเจดีย์ตามเดิมหลังบูรณะเสร็จ แน่นอนว่าสิ่งของที่วัดได้ค้นพบในครั้งนี้บางส่วนจะถูกนำกลับไปบรรจุในองค์พระเจดีย์ แต่สิ่งของส่วนใหญ่จะถูกนำออกแสดงเป็นการถาวรที่หอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาซึ่งทางวัดกำลังบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดต่อไป 
วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 
...พระธรรมโกศาจารย์ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจตรวจสอบและลงทะเบียนสิ่งของที่ค้นพบในกรุวัดประยุรวงศาวาสก่อนที่จะนำออกแสดงในพิพิธภัณฑ์หอสมุดพรินทร์ปริยัติธรรมศาลาเป็นการถาวร การลงทะเบียนของกรมศิลปากรจะเป็นหลักประกันว่าสิ่งของล้ำค่าเหล่านี้จะคงอยู่เป็นมรดกของชาติคู่กับวัดประยุรวงศาวาสตลอดไป 
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ 
...วัดประยุรวงศาวาสจัดงานลอยกระทงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเป็นปีแรก เมื่อถึงวันลอยกระทงของทุกปี วัดประยุรวงศาวาสจะจัดงานลอยกระทงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุอย่างนี้เป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุภายในองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ที่วัดประยุรวงศาวาสเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา 
ลำดับเหตุการณ์การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดประยุรวงศาวาส 
พระุพรหมบัณฑิต ขณะดำรงตำแหน่งที่...พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ประยูร ธมฺมจิตฺโต) 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 20 kb )
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)

เขียนเมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2556 | อ่าน 8099
เขียนโดย พระมหาสุรชัย สุรทสฺสี

 
 
 
 
 
หนังสือธรรมะอื่นๆ
Sucaritadhammakatha
The most venerable Prof. Dr Phra Brahmapundit (เปิดอ่าน 20124 )
4/5/2565
อิทธิบาทกถา ว่าด้วยอิทธิบาททำให้อายุยืน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 22240 )
9/2/2565
สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 22952 )
30/11/2564
โควิทกถา รวมเทศนาในสถานการณ์โควิด
แสดงโดย...พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ศ.,ดร. เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส (เปิดอ่าน 24953 )
17/9/2564
ปรักกมกถา ว่าด้วยความมุ่งมั่น (ในสถานการณ์โควิด ๑๙)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 24141 )
22/8/2564
พุทธิวินยกถา ว่าด้วยความรู้คู่ระเบียบวินัย (ต้านภัยโควิด ๑๙)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 24453 )
19/8/2564
อนาวิลจิตตกถา ว่าด้วยใจไม่ขุ่นมัว (ในสถานการณ์โควิด)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 19903 )
29/7/2564
อัตตทมกถา ว่าด้วยการปรับตัว (ในสถานการณ์โควิดระลอกที่ ๑)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 19015 )
19/7/2564
กิมานันทกถา ว่าด้วยบันเทิงกันได้อย่างไร (เตรียมตัวสู้ภัยโควิด)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 23210 )
16/7/2564
ฌานกถา ว่าด้วยการเพ่งพินิจ (ในสถานการณ์โควิดระลอกที่ ๓)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 17447 )
15/7/2564
ทักไขยกถา ว่าด้วยทักษะชีวิต
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18393 )
17/6/2564
พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18712 )
27/5/2564
อจินตามยกถา ว่าด้วยความไม่ได้ดั่งใจ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 17933 )
5/5/2564
สัจจกถา ว่าด้วยความจริง
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 17782 )
4/5/2564
จักกธรรมกถา ว่าด้วยธรรมคือวงล้อ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18468 )
20/3/2564
อัคคทานกถา ว่าด้วยทานอันเลิศ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18373 )
14/3/2564
นาถกรณธรรมกถา ว่าด้วยธรรมสร้างที่พึ่ง
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18007 )
12/3/2564
อภิรติกถา ว่าด้วยความยินดีพอใจ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18523 )
28/2/2564
ปริจาคกถา ว่าด้วยความเสียสละ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18904 )
24/2/2564
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 22 คน
วันนี้ 578 คน
เมื่อวานนี้ 635 คน
เดือนนี้ 10,340 คน
เดือนที่ผ่านมา 7,381 คน
ทั้งหมด 2,857,321 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob