๑๗ ต.ค.๒๕๕๖ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า จากการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเร็วๆนี้ พศ.ได้รายงานให้มส.รับทราบ ถึงผลการประชุมเพื่อหาข้อยุติถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ของคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารเพื่อการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ประกอบด้วย พ.ศ. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเห็นว่า การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันสูง อีกทั้งธนาคารที่ตั้งขึ้นมาไม่มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนที่จะทำธุรกิจแล้วได้กำไรจึงเป็นไปได้ยาก
"ขณะที่ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า ให้ประสานกับธนาคารออมสินหรือธนาคารกรุงไทย เพื่อหาช่องทางดำเนินการหรือวินโดว์ (window) น่าจะเป็นทางออกที่ดี ขั้นตอนจากนี้ไป พศ.จะจัดส่งร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อไป" ผอ.พศ.ระบุนั้น
ได้มีการเคลื่อไหนจากองค์กรชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ในฐานะเลขาธิการองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ที่เสนอให้มีการตั้งธนาคารเพื่อการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนต้วนาม "พระเมธีธรรมาจารย์ พระเมธีธรรมาจารย์" ในอัลบั้มขอบคุณ-อนุโมทนา-เดินหน้าต่อไปเรื่องธนาคารพระพุทธศาสนาความว่า "อาตมาเพิ่งเดินทางกลับจากกรุงปักกิ่งทราบข่าวเรื่องธนาคารพระพุทธศาสนาส่อเค้าแท้ง ผม/อาตมาไม่ถอยครับ เดินหน้าต่อ วันที่ ๒๐ ต.ค. นี้จะพบกับคนสำคัญและพูดคุยเรื่องนี้ ไม่ถอยแน่นอนครับ"
ทั้งนี้พระเมธีธรรมาจารย์ได้เคยชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งธนาคารดังกล่าวความว่า
ประเด็นที่ ๑ คือธนาคารพระพุทธศาสนาแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ ตรงที่ธนาคารพุทธศาสนาเป็นธนาคารเฉพาะที่มีบทบาทและหน้าที่ตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง คือส่งเสริม อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและเป็นช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินของพระพุทธศาสนิกชน มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์คือธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนด และมีฐานะเป็นบริษัทมหาชน จำกัด
ประเด็นที่ ๒ โครงสร้างการบริหารของธนาคารพุทธศาสนา ประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ก่อตั้ง ๑๕ ท่าน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนมหาเถรสมาคม และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา การเงิน การธนาคาร และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการธนาคารอีก ๘ ท่าน กรรมการชุดที่ ๒ เลือกจากผู้ถือหุ้นอีก ๔ ท่าน รวมกับกรรมการชุดแรกเป็น ๑๙ ท่าน
ประเด็นที่ ๓ กลไกการให้สินเชื่อ จะให้สินเชื่อแก่พุทธศาสนิกชน องค์กรทางพุทธศาสนา โดยพิจารณาจากความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ กลไกการให้สินเชื่อของธนาคารพุทธศาสนา คือการให้กู้แบบกลุ่มลักษณะเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
และประเด็นที่ ๔ กรณีที่วัดต้องการขอสินเชื่อ ต้องทำในนามคณะกรรมการวัดหรือมูลนิธิ โดยมีไวยาวัจกรที่ได้รับการแต่งตั้งและได้รับมอบหมายจากวัดเป็นลายลักษณ์อักษรทำนิติกรรม โดยเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย ทั้งนี้ ภายหลังการชี้แจง ที่ประชุมก็ไม่ขัดข้อง และพร้อมจะสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นอกจากนี้พระเมธีธรรมาจารย์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ หากไม่ผลักดันให้เกิดแล้วต่อไปก็ต้องต่างคนต่างเดินก็แล้วกัน
พร้อมกันนี้ในศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยได้โพสต์ข้อความว่า "ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขอร่วมแสดงความไม่พอใจในการขัดขวาง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาครั้งนี้ อย่างเต็มที่ต่อไป" พร้อมกับมีการโพสต์ภาพพวงหรีดที่มีข้อความว่า "ผู้ขัดขวางพ.ร.บ.พระพุทธศาสนาทุกหน่วยงาน"
และได้โพสต์เพื่อเป็นการระดมความเห็นความว่า " ขอรับฟังความเห็นของทุกท่าน ต่อ กรณี พ.ร.บ.ธนาคารพุทธ & พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ณ วันนี้เราคงไม่ผลักภาระหรือกล่าวโทษซึ่งกันและกัน หรือพยายาม หาเจ้าภาพมารับผิดชอบเรื่องนี้ แต่อยากจะข้อร้องพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้ร่วมกันเสนอแนวทาง มาตรการต่างๆ ในการดำเนินการต่อจากนี้ไปจะประมวลข้อเสนอแนะของท่านทั้งหลายและจะรีบดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด....."
อีกทั้งยังได้โพสต์บทความเรื่อง ''ธนาคารพระพุทธศาสนา: เงินตรากับการพัฒนาจริยธรรมชาวพุทธ'' ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่
http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=1445&menutype=1&articlegroup_id=278

๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖
เขียนเมื่อ
17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 | อ่าน
9718
เขียนโดย
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร