แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

oooooop

 

พระพุทธศาสนากับความสมานฉันท์แห่งชาติ

ในการสัมมนาครั้งนี้ ท่านพุทธศาสตรบัณฑิตทั้งหลายได้มาประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของการปฏิบัติศาสนกิจในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมาและจะได้พินิจพิจารณาถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ส่งพวกเราออกไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อพัฒนาสังคม

ประโยชน์ของศาสตร์ต่างๆ ต่อสังคม
ศาสตร์ทั้งหลายต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมถึงจะอยู่รอดมาได้ มนุษย์คิดค้นศาสตร์ต่าง ๆขึ้นมาก็เพื่อช่วยพัฒนามนุษย์และพัฒนาสังคม ศาสตร์สาขาใดไร้ประโยชน์เพราะไม่อาจทำหน้าที่พัฒนามนุษย์และพัฒนาสังคม ศาสตร์สาขานั้นก็จะสูญพันธุ์ไปเอง พุทธศาสตร์ซึ่งเราได้ศึกษามาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ก็เช่นเดียวกัน นั่นคือเมื่อพิสูจน์ได้ว่ายังมีประโยชน์ต่อชาวโลก คนก็คงยังศึกษากันต่อไป

มหาวิทยาลัยมหาจุฬากรณราชวิทยาลัยนี้รัชกาลที่.๕ ทรงสถาปนาให้เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง ในที่นี้ คำว่า "พระไตรปิฎก" หมายถึงพุทธธรรมหรือพุทธศาสตร์ คำว่า "วิชาชั้นสูง" หมายถึง ศาสตร์สมัยใหม่สาขาต่าง ๆ ที่เราเรียนกันในมหาวิทยาลัย ผู้เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตต้องมีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาและสามารถประยุกต์เข้ากับศาสตร์สาขาต่าง ๆ เมื่อพุทธศาสตรบัณฑิตมีความเป็นเลิศทางวิชาการทางด้านพุทธศาสนาบวกกับความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆแล้ว เราทำอะไรกันต่อไปหลังจากเรียนจบและได้รับปริญญา ? ศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่ศึกษามานั้นเราใช้ให้เป็นประโยชน์แค่ไหน นี้ก็คือสิ่งที่น่าจะได้กำหนดพินิจพิจารณา เมื่อเรียนจบศาสตร์สาขาต่าง ๆ แล้ว ท่านก็ต้องนำความรู้ไปใช้ทำประโยชน์ คำถามก็คือใช้ทำประโยชน์อะไร ? เมื่อหมอชีวกโกมารภัจเรียนวิชาแพทยศาสตร์ที่ตักกสิลาได้ ๗ ปีก็มีการสอบไล่ อาจารย์ของหมอชีวกได้ให้ข้อสอบ ๑ ข้อแก่ลูกศิษย์ที่เข้าสอบว่า ในรัศมีประมาณ ๑ โยชน์โดยรอบนี้ให้แต่ละคนไปเสาะหาดูว่าพืชชนิดใดใช้ทำยาไม่ได้ จากนั้นอาจารย์จะมาประเมินผลจากการไปแสวงหาพืชชนิดที่ใช้ทำยาไม่ได้ ว่าคนไหนควรจะจบหรือไม่

ลูกศิษย์ทั้งหลายไปเก็บพืชชนิดที่ใช้ทำยาไม่ได้มาคนละกำสองกำแล้วนำเสนออาจารย์ อาจารย์ได้แต่พยักหน้า แต่หมอชีวกกลับมามือเปล่า อาจารย์ถามว่า "ไหนล่ะพืชที่ใช้ทำยาไม่ได้" หมอชีวกตอบว่า "ผมไปพิจารณาโดยทั่วแล้ว ไม่มีพืชชนิดใดที่ใช้ทำยาไม่ได้ พืชทุกชนิดเราใช้ทำยาได้หมด" ปรากฏว่า ในบรรดานักศึกษาแพทย์รุ่นนั้นมีหมอชีวกสอบผ่านเพียงคนเดียว ทั้งนี้เพราะหมอชีวกเห็นว่าพืชทุกอย่างใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ใช้เป็นประโยชน์อะไร ? เป็นประโยชน์ตามศาสตร์สาขาที่หมอชีวกเรียนจบคือนำไปปรุงยา ผมขอถามท่านทั้งหลายว่าเมื่อเรียนจบพุทธศาสตร์แล้ว ท่านสามารถนำความรู้ทุกอย่างไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ ? ผมตอบแทนท่านทั้งหลายว่าความรู้ทุกอย่างใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งหมดในการเทศน์การสอนและการปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรที่ใช้เป็นประโยชน์ในการเทศน์การสอนและการปฏิบัติธรรมไม่ได้ เหมือนกับสำนวนนิยายกำลังภายในที่ว่า "กระบี่อยู่ที่ใจ" นั่นคือไม่มีอะไรที่ยอดฝีมือจะใช้เป็นกระบี่ไม่ได้ เขาไปที่ไหนไม่ต้องพกพากระบี่ เมื่อถูกศัตรูจู่โจม เขาจะหยิบกิ่งไม้ขึ้นมาแล้วแผ่กำลังภายในไปที่กิ่งไม้ทำให้กิ่งไม้แข็งเหมือนกระบี่ใช้สู้รบได้ เมื่อท่านเรียนจบหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต ความรู้ทุกอย่างเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมได้ทั้งหมด เรื่องที่ดีเราก็นำเอามาสอนได้ เรื่องไม่ดีเราก็นำเอามาสอนได้ ดังที่ขงจื้อกล่าวว่า

. " เมื่อข้าพเจ้าพบเห็นคนสองคนเดินสวนทางมา

คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนหนึ่งเป็นคนเลว

คนสองคนเป็นครูของข้าพเจ้าได้เท่าๆกัน

พบเห็นคนดีเดินสวนทางมา ข้าพเจ้าพยายามเอาอย่างเขา

พบเห็นคนเลวเดินสวนทางมา ข้าพเจ้าพยายามไม่เอาอย่างเขา"

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันเป็นอุปกรณ์สอนธรรมะได้หมด ถ้าเรารู้ลึกซึ้งถึงแก่นของพระพุทธศาสนาก็ไม่มีอะไรที่เป็นปราการขวางกั้นไม่ให้เรานำเหตุการณ์เหล่านั้นไปประยุกต์สอนธรรมะ เมื่อประยุกต์สอนได้อย่างนี้ วิชาธรรมะก็จะเป็นประโยชน์เช่นเดียวกับวิชาการแพทย์ของหมอชีวก มีภาษิตสอนใจว่า "มีเงินให้เขากู้ มีความรู้อยู่ในตำรา ไม่มีประโยชน์เมื่อต้องรีบใช้" เมื่อหมอชีวกเดินทางกลับจากตักกสิลาไปยังเมืองราชคฤห์บ้านเกิดของเขานั้น อาจารย์ที่ตักกสิลาให้เสบียงติดตัวไปเพียงเล็กน้อยเพราะท่านต้องการให้หมอชีวกทดลองใช้ความรู้วิชาการแพทย์ปฏิบัติงานด้านการรักษาคนไข้ ถ้าชีวกรักษาคนไข้สำเร็จก็จะได้อาหารและที่พักในระหว่างทาง ถ้าเขารักษาไม่สำเร็จ เขาก็จะอดตาย ปรากฏว่านอกจากหมอชีวกจะไม่อดตายแล้ว เขายังมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเขาประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้ในระหว่างทาง อาจารย์ที่ตักกสิลาคนนี้ได้ส่งหมอชีวกไปทดลองปฏิบัติงานระหว่างเดินทางกลับบ้าน เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ส่งพวกท่านไปไปทดลองปฏิบัติศาสนกิจเป็นเวลา.๑ ปีก่อนรับปริญญา การที่พวกท่านสามารถอยู่รอดปลอดภัยจนมาเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ได้แสดงว่าสอบผ่านการทดลองปฏิบัติงานเช่นเดียวกับหมอชีวก จึงขอแสดงความยินดีในเบื้องต้นไว้ตรงนี้ ต่อนี้ไปก็ขอให้ทุกท่านจงเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระบวรพุทธศาสนาโดยได้เป็นพระครูเป็นเจ้าคุณกันทุกรูป

บัณฑิตทางพระพุทธศาสนา

. การทดลองปฏิบัติศาสนกิจ ๑ ปีถือว่าพวกท่านได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์สมกับที่เป็นบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา ชาวโลกวัดความเป็นบัณฑิตกันที่ระดับความรู้ นั่นคือ ผู้เรียนจบระดับปริญญาตรี เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิต ผู้เรียนจบระดับปริญญาโทเป็นมหาบัณฑิต ผู้เรียนจบระดับปริญญาเอกเป็นดุษฎีบัณฑิต แต่พระพุทธศาสนาวัดความเป็นบัณฑิตกันที่การรู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก อตฺถาถิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจจติ แปลความว่า

" ผู้มีปัญญาท่านเรียกว่าเป็นบัณฑิต เพราะรู้จักถือเอาประโยชน์ ๒ ประการคือประโยชน์ปัจจุบันเฉพาะหน้าและประโยชน์ระยะยาวในอนาคต " ท่านทั้งหลายมีความรู้ระดับปริญญาตรีแล้วจัดว่าเป็นบัณฑิตในทางโลก แต่อาจจะยังไม่เป็นบัณฑิตในทางธรรมถ้าท่านยังไม่สามารถจะเค้นเอาความรู้นั้นออกมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เมื่อท่านเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตแล้ว ท่านต้องกลั่นเอาความรู้ที่เรียนมาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสตร์สาขาต่าง ๆ ประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ผมจึงขอถามท่านทั้งหลายว่าท่านสามารถใช้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาซึ่งอยู่ในใจของท่านให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้มากน้อยเพียงใด ถ้าความรู้ที่ท่านได้ศึกษามานั้นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม การศึกษาระดับปริญญาตรีที่ท่านจบมานี้ก็ไม่ทำให้ท่านเป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนา ท่านเพียงแต่ได้ปริญญาบัตรมา ๑ ใบ ดังที่วิทยากร เชียงกูล เขียนบทกลอนนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ไว้ว่า

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง

ฉันจึง มาหา ความหมาย

ฉันหวัง เก็บอะไรไปมากมาย

สุดท้าย ให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

เพียงกระดาษแผ่นเดียวคือปริญญาบัตรไม่ช่วยทำให้คนเป็นบัณฑิตในทางธรรม ถ้าเขามีความรู้อยู่แต่ในตำราโดยไม่นำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม พุทธศาสตรบัณฑิตที่คิดทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองสังคมต่างหากจึงจะเป็นบัณฑิตที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนา ผมขอตั้งคำถามต่อท่านทั้งหลายว่า ท่านคิดจะทำอะไรหลังจากเรียนจบได้รับปริญญาบัตรเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตเต็มตัวแล้ว หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้แสดงความยินดีแก่ตนเองด้วยการเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณต้นโพธิ จากนั้นพระองค์ได้ถามตนเองว่า หลังจากเสร็จกิจแห่งโพธิญาณแล้ว เราจะทำอะไรต่อไป คำตอบก็ปรากฏขึ้นว่า เราจะนำธรรมที่เราตรัสรู้นี้ไปประกาศเปิดเผยทำให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก

ดังนั้น หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดสัตว์โลกตลอดเวลา ๔๕ ปีโดยไม่เคยผ่อนพัก พระพุทธองค์จึงเป็นพระบรมศาสดา การที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยเผยแผ่พระพุทธศาสนาประกาศธรรมนั้นแหละเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความรู้ที่เราค้นพบนั้นจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรารู้จักคิดถึงคนอื่น คิดถึงสังคม คิดถึงชาวโลก ต่อคำถามที่ว่าเราเรียนรับปริญญาทำไม คำตอบก็คือเราเรียนเพื่อทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม เราต้องคิดว่าจะนำเอาพุทธศาสตร์ที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญนี้ไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง คือทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ตนรียกว่าอัตตัตถะ ประโยชน์ผู้อื่นรียกว่าปรัตถะ ส่วนประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือประโยชน์ส่วนรวมเรียกว่าอุภยัตถะ ท่านทั้งหลายต้องคิดว่าท่านจะนำความรู้ไปทำประโยชน์อะไรจึงจะสมศักดิ์ศรีที่เป็นพุทธศาสตรบัณฑิต ท่านจะทำประโยชน์ที่ไหนไม่สำคัญ ข้อสำคัญคือต้องทำประโยชน์ให้สมกับที่เรามีความรู้ระดับปริญญา

พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม    
อาจจะมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า พระสงฆ์จำเป็นต้องทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยหรือ ในเมื่อคำว่าบรรพชาแปลว่าเว้นทั่วคือสละทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เมื่อท่านสละโลกแล้วทำไมต้องมาวนเวียนอยู่ในโลก พระสงฆ์เป็นอนาคาริกแปลว่าผู้ไม่มีเรือนคือไม่มีครอบครัว แม้แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ห้ามไม่ให้พระสงฆ์ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๖ บัญญัติว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ

(๑) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๒) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"

เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาได้จัดประเภทพระภิกษุสามเณรไว้ในกลุ่มเดียวกับคนวิกลจริต คือเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยกัน เมื่อพระสงฆ์ไทยไม่มีสิทธิพื้นฐานที่สำคัญอย่างนี้แล้วจะให้ท่านมีหน้าที่ช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร หน้าที่ของพระสงฆ์เรียกว่าธุระมี ๒ อย่าง คือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ การศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาจัดเป็นคันถธุระ การปฏิบัติกัมมัฏฐานจัดเป็นวิปัสสนาธุระ ท่านพุทธศาสตรบัณฑิตได้ทำธุระคือหน้าที่ทั้งสองประการแล้ว นั่นคือท่านทำคันถธุระด้วยการเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกและทำวิปัสสนาธุระด้วยการเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐาน ธุระหรือหน้าที่ของพระสงฆ์มีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่มีข้อกำหนดใดระบุว่าพระสงฆ์ต้องมีสังคหธุระคือหน้าที่สงเคราะห์ชาวโลก เพราะฉะนั้น ชาวพุทธบางประเทศส่งเสริมให้พระสงฆ์เรียนคันถธุระอย่างลึกซึ้งจนเกือบจะไม่มีช่วงเวลาทำงานเพื่อสังคม ดังพระภิกษุชาวพม่าชื่อวิจิตรสาราภิวังสะ สะยาดอ สามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้ครบทั้ง ๓ ปิฎก ถึงขนาดที่กินเนสบุ้คบันทึกไว้เมื่อปี ๒๕๒๘ ว่าเป็นพระสงฆ์มหัศจรรย์ในเรื่องความจำของมนุษย์ (Human memory) พระวิจิตรสาราภิวังสะมีความจำเป็นเลิศ เพราะท่านสามารถท่องจำพระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้าจนจบบริบูรณ์ ท่องเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากมาก ในด้านความสามารถจดจำของมนุษย์ที่โลกวิทยาศาสตร์ยอมรับ กรณีของพระวิจิตรสาราภิวังสะ สะยาดอ เป็นหลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์มีศักยภาพในทางสุตมยปัญญาคือสามารถท่องจำข้อมูลมากมายมหาศาลจากพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มโดยไม่ตกหล่น ไม่มีมนุษย์คนใดสมัยปัจจุบันที่จะจำอะไรได้มากมายเท่ากับพระวิจิตรสาราภิวังสะ กินเนสบุ้คจึงบันทึกไว้เป็นการประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป นี้คือสุดยอดแห่งคันถธุระ สุดยอดแห่งวิปัสสนาธุระมีหลายรูป แต่มีประเพณีแปลกมากที่สืบทอดกันมานับพันปีที่วัดเอนเรียวกุจิ ในประเทศญี่ปุ่น วัดเอนเรียวกุจิ สังกัดนิกายเทนไดซึ่งเป็นนิกายแรกสุดของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น นิกายอื่นแยกไปจากนิกายเทนไดนี้เป็นส่วนมาก

วัดเอนเรียวกุจิมีพื้นที่ ๓,๕๐๐ ไร่ ตั้งยู่บนภูเขาทั้งลูก ผมได้พบกับเจ้าอาวาสชื่อท่านเอนามิ ท่านนำชมวัดของท่านซึ่งแบ่งเป็นส่วนคามวาสีที่เรียนคันถธุระและส่วนอรัญญวาสีที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ส่วนที่เป็นอรัญญวาสีมีการฝึกเข้มหลายอย่าง เช่น เดินธุดงค์ ท่านผู้ก่อตั้งเทนไดชื่อท่านไซโจ ได้กำหนดให้ลูกศิษย์ต้องเดินธุดงค์ในป่าอย่างน้อยวันละ ๓๐ กิโลเมตรเป็น ๑๐๐ วันติดต่อกันจึงจะจบหลักสูตร นอกจากนี้ ท่านไซโจยังสั่งว่า ในหอบูรพาจารย์ให้จุดตะเกียงบูชาพระโดยระวังมิให้ไฟดับจนกว่าจะถึงยุคพระศรีอาริย์มาโปรด ศิษย์สำนักนี้เชื่อฟังอาจารย์ดีมาก ศิษย์ทุกรุ่นได้เติมน้ำมันตะเกียงจนไฟไม่เคยดับเลยติดต่อกันมากว่า ๑,๒๐๐ ปี การปฏิบัติเคร่งครัดสุดยอดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้พระสงฆ์จำศีลภาวนาสวดมนต์นั่งกัมมัฏฐานอยู่ในสำนักบนยอดเขาโดยห้ามลงจากเขาติดต่อกันเป็นเวลา ๑๒ ปี ประเพณีนี้ได้สืบทอดกันมาตลอดเวลา ๑,๒๐๐ ปีไม่เคยขาดสาย ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ที่อธิษฐานอยู่บนเขาเป็นเวลา ๑๒ ปีเพียง ๑ ท่านเจ้าอาวาสพาผมเข้าไปภายในสำนักเพื่อพบพระรูปนั้น พอผมก็เข้าไปด้านใน ก็พบว่าภายในบริเวณนี้ห้ามมีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว ใบไม้ตกก็ต้องเก็บ ไม่มีเวลาว่าง

ผมได้พบกับพระรูปที่กำลังบำเพ็ญพรต ๑๒ ปี ท่านไม่เคยลงจากเขาเลย ท่านอยู่มาแล้ว ๑๒ ปีและขอยู่ต่ออีก ๑๒ ปี ในรอบที่ ๒ ท่านอยู่มาได้ ๖ ปี รวมเวลาแล้วพระรูปนี้อยู่บนเขานี้ติดต่อกันมา ๑๘ ปี ไม่เคยลงจากเขาเลย ปัจจุบันท่านมีอายุได้ ๔๖ ปี สิ่งที่สังเกตเห็นคือ ผิวของท่านขาวจนซีดเพราะความที่ท่านอยู่ในร่มตลอดเวลา ดวงตาของท่านสดใสไร้ความกังวลเหมือนดวงตาของเด็ก เพราะท่านไม่เคยได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ไม่เคยดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ท่านไม่รู้หรอกว่ามีปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ท่านไม่เครียด ไม่กังวล ๆ สวดมนต์และนั่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก ท่านอยู่บนเขามา ๑๘ ปี แบบที่เรียกว่าไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ขณะที่ปฏิบัติเข้มอยู่บนยอดเขา พระสงฆ์รูปนี้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะรับรู้ปัญหาสังคม พระพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่นเห็นว่าการบำเพ็ญสมาธิที่เรียกว่าฌานหรือเซนจะต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพราะฉะนั้น เซนสอนให้พยายามนำเอากัมมัฏฐานมาใช้ในชีวิตประจำวัน เราจึงได้ยินเรื่องการจัดดอกไม้แบบเซน พิธีชงชาแบบเซน แม้แต่นักมวยปล้ำซูโม่ ก็นำเอากัมมัฏฐานแบบเซนไปใช้ในการแข่งขันมวยปล้ำ ดังนิทานเซนต่อไปนี้ นักมวยปล้ำซูโม่คนหนึ่งมีรูปร่างใหญ่โตแต่ใจปลาซิว เขาทำท่าจะชนะในการแข่งขัน แต่ตอนท้ายยกก็ถอดใจยอมแพ้ทุกที นักมวยคนนี้ไปหาอาจารย์เซนให้ช่วยสอนฝึกสมาธิให้ชนะมวยปล้ำ อาจารย์ถามว่า "คุณชื่ออะไร" เขาตอบว่า "ผมชื่อสึนามิ ที่แปลว่า คลื่นยักษ์" อาจารย์แนะนำว่า "ถ้าอย่างนั้น คุณนั่งหลับตาหันหน้าเข้าข้างฝา จินตนาการให้เห็นตัวเองเป็นลูกคลื่นยักษ์ซัดฝาผนัง นั่งให้นานที่สุดแล้วมารายงานผล" นายสึนามินั่งหลับตาจินตนาการว่าตัวเองเป็นคลื่นยักษ์ลูกแล้วลูกเล่าซัดฝาผนังตั้งแต่หัวค่ำจนเที่ยงคืนแล้วก็ลุกขึ้นมาเคาะประตูรายงานอาจารย์ว่า "คลื่นซัดกุฏิในวัดพังหมดแล้ว" ที่จริงไม่มีคลื่นยักษ์ แต่เขามองเห็นตัวเองเป็นคลื่นยักษ์ในนิมิตซัดจนวัดพังหมด อาจารย์จึงสอนว่า "ต่อไปนี้ เวลาขึ้นเวทีมวยปล้ำเมื่อไหร่ ให้คุณคิดว่าตัวเองเป็นคลื่นยักษ์ซัดคู่ต่อสู้ลัมกลิ้งไปเลย" นายสึนามิทำตามคำแนะนำของอาจารย์ ไม่มีใครทานพลังคลื่นยักษ์ของเขาได้ เขาได้เป็นแชมป์ซูโม่ของญี่ปุ่น นี้คือตัวอย่างของการประยุกต์ใช้สมาธิในชีวิตประจำวัน กัมมัฏฐานของเซนเป็นกัมมัฏฐานเพื่อ แก้ปัญหาสังคม เซนเป็นตัวอย่างของพระพุทธศาสนาพื่อสังคม

พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ

๑.พระพุทธศาสนาแบบวิชาการ (Exoteric or Intellectual Buddhism)

เน้นคันถธุระ เรียนแต่ตำราอย่างเดียว แปลหรือท่องพระไตรปิฎก บางครั้งก็หนีสังคมเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง Exoteric Buddhism แปลว่า พุทธศาสนาตามคัมภีร์หรือ Intellectual Buddhism พุทธศาสนาแบบปัญญาชน เรียนจบอยู่แค่นี้ ไม่ได้คิดห่วงใยสังคม ห่วงแต่วิชาการ ไม่คิดจะไปปฏิบัติศาสนกิจ

๒.พระพุทธศาสนาแบบประสบการณ์ลึกลับ (Esoteric Buddhism)

เน้นวิปัสสนาธุระ ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามลำพังเพื่อเข้าถึงรหัสยะคือประสบการณ์ลึกลับเฉพาะตนชนิดที่สื่อให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ดังคำกลอนที่ว่า "เข้าฌานนานตั้งเดือนไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา ถือศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวัน"

๓.พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism)

เน้นสิ่งที่ผมเรียกว่า สังคหธุระ คือบริการสังคม มีหน้าที่สงเคราะห์ชาวบ้านด้วยสังคหวัตถุ ๔ เป็นพระพุทธศาสนาที่ห่วงใยประชาชน พระพุทธศาสนาแบบที่ ๓ ไม่อยู่บนหอคอยงาช้างเหมือนแบบที่ ๑ และไม่เข้าถ้ำหลับตาภาวนา ปลีกตัวหนีสังคมเหมือนแบบที่ ๒ แต่เป็นการผสมสังคหธุระให้กับกลมกลืนเข้ากับคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระ เช่นเดียวกับการที่พระสิทธัตถะออกผนวช ๖ ปีแรกเก็บตัวแบบประเภทที่ ๑ และที่ ๒ เมื่อตรัสรู้แล้วจึงออกเทศนาสั่งสอนตลอดเวลา ๔๕ พรรษา ช่วงนี้ผมเรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) ที่เน้นสังคหธุระคือการพัฒนาสังคม พระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากภาครัฐและเอกชนมาจนทุกวันนี้ก็เพราะพระสงฆ์ไทยในอดีตและปัจจุบันได้ทำสังคหธุระคือออกเผยแผ่เทศนาสั่งสอนสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชน

ประโยชน์จะรักษาพระพุทธศาสนา

ถ้าพระสงฆ์ไทยเอาแต่เก็บตัวเรียนคัมภีร์แบบประเภทที่ ๑ หรือปลีกวิเวกหลับตาภาวนาแบบประเภทที่ ๒ โดยไม่สนใจการเผยแผ่เทศนาสั่งสอนสงเคราะห์ชาวบ้าน วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อภัยมาถึงพระพุทธศาสนาก็จะไม่มีใครออกมาปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาเพราะประชาชนมองไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาในประเทศไทยอาจจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับมหาวิทยาลัยนาลันทาในประเทศอินเดีย มหาวิทยาลัยนาลันทายุคสุดท้ายเน้นหนักไปในการศึกษาแบบไม่ห่วงใยสังคม เน้นการสวดมนต์ภาวนาแบบมันตรยานที่ส่งเสริมไสยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ที่เก็บจากภาษีของชาวบ้านตามพระราชโองการ คนนอกกำแพงมหาวิทยาลัยไม่ค่อยชอบมหาวิทยาลัยนาลันทาเพราะมหาวิทยาลัยนาเอาแต่เก็บภาษีโดยไม่บริการวิชาการแก่สังคม บันทึกฝ่ายทิเบตจารึกไว้ว่า เมื่อกองทัพมุสลิมบุกปล้นสะดมและเผามหาวิทยาลัยนาลันทาจากไปแล้ว ห้องสมุดบางส่วนยังไม่ถูกไฟไหม้ ชาวบ้านข้างวัดนั่นแหละพากันมาปล้นสะดมและเผามหาวิทยาลัยนาลันทาซ้ำอีกรอบ ห้องสมุดถูกไฟไหม้หมดในรอบนี้ เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะอยู่รอดในสังคมไทยต่อไปไม่ใช่ด้วยการเก็บตัวเรียนแต่ตำราอยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ด้วยการออกไปเทศนาสั่งสอนและทำประโยชน์แก่ชาวบ้าน ประโยชน์จะรักษามหาวิทยาลัยเอง

.............................


ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 20 kb )
()
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)

เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 | อ่าน 5743
เขียนโดย วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 
 
 
 
 
หนังสือธรรมะอื่นๆ
Sucaritadhammakatha
The most venerable Prof. Dr Phra Brahmapundit (เปิดอ่าน 10589 )
4/5/2565
อิทธิบาทกถา ว่าด้วยอิทธิบาททำให้อายุยืน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 12806 )
9/2/2565
สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13460 )
30/11/2564
โควิทกถา รวมเทศนาในสถานการณ์โควิด
แสดงโดย...พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ศ.,ดร. เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส (เปิดอ่าน 15374 )
17/9/2564
ปรักกมกถา ว่าด้วยความมุ่งมั่น (ในสถานการณ์โควิด ๑๙)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14631 )
22/8/2564
พุทธิวินยกถา ว่าด้วยความรู้คู่ระเบียบวินัย (ต้านภัยโควิด ๑๙)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14740 )
19/8/2564
อนาวิลจิตตกถา ว่าด้วยใจไม่ขุ่นมัว (ในสถานการณ์โควิด)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14854 )
29/7/2564
อัตตทมกถา ว่าด้วยการปรับตัว (ในสถานการณ์โควิดระลอกที่ ๑)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13851 )
19/7/2564
กิมานันทกถา ว่าด้วยบันเทิงกันได้อย่างไร (เตรียมตัวสู้ภัยโควิด)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18212 )
16/7/2564
ฌานกถา ว่าด้วยการเพ่งพินิจ (ในสถานการณ์โควิดระลอกที่ ๓)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 12464 )
15/7/2564
ทักไขยกถา ว่าด้วยทักษะชีวิต
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13496 )
17/6/2564
พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13726 )
27/5/2564
อจินตามยกถา ว่าด้วยความไม่ได้ดั่งใจ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13000 )
5/5/2564
สัจจกถา ว่าด้วยความจริง
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 12884 )
4/5/2564
จักกธรรมกถา ว่าด้วยธรรมคือวงล้อ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13388 )
20/3/2564
อัคคทานกถา ว่าด้วยทานอันเลิศ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13429 )
14/3/2564
นาถกรณธรรมกถา ว่าด้วยธรรมสร้างที่พึ่ง
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13110 )
12/3/2564
อภิรติกถา ว่าด้วยความยินดีพอใจ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13677 )
28/2/2564
ปริจาคกถา ว่าด้วยความเสียสละ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13981 )
24/2/2564
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 88 คน
วันนี้ 1,777 คน
เมื่อวานนี้ 1,584 คน
เดือนนี้ 42,862 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,631,101 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob