แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

oooooop

 

ธรรมประกาศโนบาย

ธรรมประกาศโนบาย
พระธรรมโกศาจารย์ (ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

*(เรียบเรียบจากบทบรรยายในโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒)

        ขอถวายความเคารพ และแสดงความนับถือ แด่ท่านพระเถรานุเถระว่าที่พระธรรมทูตทุกรูป 
        เนื่องจากท่านทั้งหลายได้รับการฝึกอบรมเตรียมตัวที่จะไปปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูตสายต่างประเทศจนครบตามหลักสูตรแล้ว  วันนี้ผมเพียงแต่มาเติมเต็มด้วยการนำเสนอนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งผมเรียกว่าธรรมประกาศโนบายแปลว่าวิธีการประกาศธรรม มี ๕ ข้อ ดังนี้
๑.    ตกปลานอกบ้าน
๒.    ประสานสิบทิศ
๓.    ผูกมิตรทั่วหล้า
๔.    บริหารปัญญา
๕.    สาลิกาป้อนเหยื่อ
         ธรรมประกาศโนบายทั้งห้าข้อนี้ถอดความมาจากพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่พระอรหันต์ ๖๐ รูปซึ่งถือว่าเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกที่พระองค์ทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาหลังจากตรัสรู้ได้ประมาณ ๖ เดือน 
        พระพุทธพจน์ที่สำคัญมีดังนี้
        "ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา จ เย มานุสฺสา" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์"
        พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า
        “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก”
        และอีกตอนหนึ่งว่า
        “เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ”แปลว่า “จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด”
        จากพระพุทธพจน์ดังกล่าวมานี้ ผมถอดออกมาเป็นธรรมประกาศโนบายหรือนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕ ข้อ ดังต่อไปนี้
        นโยบายข้อแรกที่ว่า ตกปลานอกบ้าน มาจากพุทธพจน์ที่ว่า "เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป"  
        นโยบายข้อสองที่ว่า ประสานสิบทิศ มาจากพุทธพจน์ที่ว่า "เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก" 
        นโยบายข้อสามที่ว่า ผูกมิตรทั่วหล้า มาจากพุทธพจน์ที่ว่า "เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก”
        นโยบายข้อสี่ที่ว่า บริหารปัญญา  มาจากพุทธพจน์ที่ว่า "แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์"
        นโยบายข้อห้าที่ว่า สาลิกาป้อนเหยื่อ มาจากพุทธพจน์ที่ว่า “จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด”
        ธรรมประกาศโนบายทั้งห้าข้อนี้กลั่นมาจากประสบการณ์ด้านการเผยแผ่ของผมที่ได้จากการทำงานในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งในฐานะเจ้าคณะภาค  ๒  และเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส  อาจกล่าวได้ว่าเป็นการตกผลึกทางความคิดของผมเอง  
        นโยบายทั้ง  ๕  ข้อมีรายละเอียดดังนี้
        นโยบายข้อแรก  ที่ว่า  ตกปลานอกบ้าน  เป็นอย่างไร สมมติว่ามีหมู่บ้านแห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมบึง  ฝูงปลามากินอาหารที่ชาวบ้านโปรยให้  วันดีคืนดีชาวบ้านก็ตกปลานั่นแหละมากินบ้างขายบ้าง เพราะว่าพวกเขาไม่มีที่เพาะปลูก  เนื่องจากบริเวณรอบบึงเป็นภูเขา  ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยการตกปลาไปแลกเปลี่ยนอาหารกับชาวสวนชาวไร่ที่อยู่ไกลออกไป 
        ปรากฏว่าปลาที่อยู่ในบึงใกล้บ้านเป็นจำพวกปลาสวายหน้าวัดที่กินไม่อร่อยและมีราคาถูก  ตรงกันข้ามกับปลาที่อยู่ในแถบน้ำลึกกลางบึงไกลออกไปจากหมู่บ้าน เป็นพวกปลาตัวใหญ่ที่ฉลาด  ไม่ติดเบ็ดง่ายๆ  ปลาพวกนี้สามารถพาเอาคันเบ็ดไปได้  บางทีลากตัวเราพร้อมทั้งเรือของเราไปด้วย  แต่ถ้าเราจับปลานี้ได้จะขายได้ราคาแพง  
         ผมเปรียบเทียบพวกที่ตกปลาในบ้านหรือรอบบ้านเหมือนพระสงฆ์ที่เทศน์อยู่ตามศาลาวัด มีคนแก่นั่งพิงเสาศาลาฟังอยู่ไม่กี่คน  ผู้ฟังติดกัณฑ์เทศน์ทีละยี่สิบบาท ได้แค่นี้แหละ  แต่พระสงฆ์ที่ไปเทศน์ตามโรงเรียน โรงงาน  บริษัทและสถานที่ราชการเหมือนพวกที่ตกปลานอกบ้าน  พระธรรมทูตสายต่างประเทศอย่างท่านทั้งหลายไปตกปลาไกลถึงยุโรปอเมริกา คงจะได้ปลาราคาดี  ผมห่วงแต่ว่าปลาจะลากเบ็ดหายไปเลยทั้งเรือทั้งคน จนกลับวัดไม่ถูก   
         การตกปลาหมายถึงการจาริกออกไปนอกวัดเพื่อนำคนเข้าหาธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันต์กลุ่มแรกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระวาจาว่า “จรถ  ภิกฺขเว  จาริกํ” แปลว่า “ท่านทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป”  นั่นคือจาริกไปสอนธรรม  หนึ่งในพระอรหันต์ชุดนั้นคือพระอัสสชิที่จาริกไปตกปลานอกบ้านได้พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรที่เลิกนับถือศาสนาอื่นแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา พระอัสสชิตกปลานอกบ้านครั้งนี้ได้พระอัครสาวกคู่นี้ผู้กลายเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา  
        ถ้าพระธรรมทูตไทยทั้งหลายไปสอนต่างประเทศแล้วได้คนอังกฤษหรืออเมริกันที่ฉลาดมาช่วยงานวัดในต่างแดน เช่นเป็นล่ามช่วยแปลคำเทศนาของท่านเป็นภาษาอังกฤษ พระพุทธศาสนาสายเถรวาทจากไทยก็ประสบความสำเร็จในยุโรปอเมริกาไม่แพ้พระพุทธศาสนาสายทิเบตของท่านลามะทั้งหลาย
        เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ลามะจากทิเบตผู้ ไม่รู้ภาษาอังกฤษเข้าไปเผยแผ่พระศาสนาในอเมริกา  ท่านตกปลาได้คนอเมริกันจำนวนมากมานับถือพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน คนเหล่านั้นได้ช่วยแปลคำสอนของทิเบตเป็นภาษาอังกฤษ  ทำให้พระพุทธศาสนาสายทิเบตประสบความสำเร็จแซงหน้าพระพุทธศาสนานิกายเซนในอเมริกา เหตุเพราะลามะทั้งหลายตกปลาได้คนอเมริกันมาช่วยงานของเขา  เหมือนกับการที่พระมหินทะผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอโศกไปอยู่ศรีลังกาแล้วสามารถสอนให้คนท้องถิ่นบวชเป็นพระได้  ท่านจึงถือว่าพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากในศรีลังกาตั้งแต่นั้นมา
        หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง พาศิษย์ของท่านชื่อพระสุเมโธไปเผยแผ่พระศาสนาที่อังกฤษ     หลวงพ่อชาบอกให้ท่านสุเมโธบิณฑบาตที่อังกฤษทุกเช้า  ท่านสุเมโธถามว่าเมื่อไม่มีคนใส่บาตรจะไปบิณฑบาตทำไม  หลวงพ่อชาตอบว่า เราไม่ได้ให้ท่านไปบิณฑบาตเอาอาหาร  เราให้ท่านไปบิณฑบาตเอาคน  ท่านสุเมโธได้ออกบิณฑบาตทุกเช้าจนคนอังกฤษแถวนั้นชินกับภาพพระสงฆ์ออกบิณฑบาต
        ชายชาวอังกฤษคนหนึ่งเห็นท่านสุเมโธออกบิณฑบาตทุกเช้าขณะที่เขาวิ่งออกกำลังกายอยู่แถวนั้น เขาเข้ามาหาท่านสุเมโธแล้วบอกว่าผมเห็นพวกท่านสงบสำรวมดี  ผมมีที่ดินเป็นสวนป่าขนาดใหญ่  อยากถวายให้ท่านไปสร้างวัดที่นั่นและช่วยดูแลสวนป่าให้ผมด้วย  ท่านสุเมโธจึงได้ที่ดินสำหรับสร้างวัดแห่งแรกด้วยนโยบายตกปลานอกบ้านหรือที่หลวงพ่อชาเรียกว่าออกบิณฑบาตเอาคน 
        ถ้าท่านสังเกตการทำงานของผู้บริหารมหาจุฬาฯ  ท่านจะพบว่าผู้บริหารของเรายึดนโยบายตกปลานอกบ้านด้วยการออกไปสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยด้วยการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม  ท่านออกไปเทศน์สอนคนนอกมหาวิทยาลัยเพื่อดึงคนเหล่านั้นเข้ามาช่วยงานของมหาวิทยาลัย  
        ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (อาจ  อาสภมหาเถร)  องค์ทุติยสภานายกของมหาวิทยาลัยเคยให้โอวาทตอนที่ผมยังเป็นนิสิต  ท่านบอกให้พวกเราตั้งใจทำงานเพื่อพระศาสนาโดยไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณ ท่านย้ำเสมอว่าแม้แต่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ตั้งมาได้ด้วยนัตถิปัจจัยคือไม่มีทุนอะไรเลย  ท่านสอนพวกเราว่า “เงินมี  แต่คนใช้เงินไม่มี”  ท่านหมายถึงว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าญาติโยม เราต้องทำให้พวกเขาควักออกมาบริจาคช่วยงานของเราให้ได้ 
        เมื่อมาถึงยุคที่ผมเป็นอธิการบดีผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เราสร้างสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยที่วังน้อยด้วยนัตถิปัจจัยคือไม่มีเงินเหมือนกัน เราเริ่มต้นด้วยที่ดิน ๘๔ ไร่ที่มีผู้บริจาค จากนั้น เราได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจนบัดนี้มีมากถึง ๓๓๕ ไร่ เราได้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หลายหลังจนสามารถเปิดทำการสอนที่วังน้อยได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี ๒๕๕๑ เราใช้เงินก่อสร้างไปไม่ต่ำกว่าสองพันล้านบาท การที่เราสามารถทำได้อย่างนี้ก็เพราะนโยบายตกปลานอกบ้านตามพันธกิจที่ว่าด้วยการให้บริการวิชาการแก่สังคม การที่เราเปิดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศอยู่นี้ก็เป็นไปตามพันธกิจนี้นั่นเอง
         เพราะฉะนั้น  เมื่อท่านไปเป็นพระธรรมทูตอยู่ต่างประเทศ อย่าท้อถอยในการออกไปเทศน์หรือสอนนอกวัด นั่นคือการตกปลานอกบ้าน  อย่าสอนอยู่เฉพาะกับชุมชนคนไทยเท่านั้น เราต้องขยายไปสอนคนเจ้าของประเทศ  ถ้าพระสงฆ์ไทยในต่างแดนสอนแต่คนไทยเท่านั้น ก็จะเกิดการแย่งญาติโยมจนต้องแยกตัวออกไปตั้งวัดใหม่ตามหมู่คนไทย  จนกลายเป็นประเพณีที่พวกเรามักแยกวงกันไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้คณะสงฆ์ไทยในต่างแดนอ่อนแอ ถ้าจะตั้งวัดใหม่ก็ให้ทำเพราะวางแผนร่วมกันระหว่างวัดใหม่กับวัดเก่า ไม่ใช่ทำเพราะแตกความสามัคคีจนกลายเป็นการแก่งแย่งแข่งดี โบราณท่านว่า “ผลัดกันดี ดีทุกคน ชิงกันดี ไม่ดีสักคน”
    ในสมัยนี้ พัฒนาการแห่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารช่วยให้เราจาริกไปทั่วโลกโดยไม่ต้องออกเดินทางไปนอกวัดจริงๆ ตัวเรายังอยู่ที่วัดแต่ภาพและเสียงของเรากระจายไปทั่วโลกผ่านสื่อต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ วัดที่มีสถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองก็ชื่อว่าตกปลานอกบ้านเหมือนกัน
        แท้ที่จริง  การตกปลานอกบ้านคือการส่งสาส์นแห่งธรรมออกไปนอกวัดให้ถึงชาวบ้านและชาวโลก วิธีการมีมากมาย ทั้งที่ออกไปสอนนอกวัดด้วยตนเองและสอนผ่านสื่อต่างๆ ล้วนแต่เป็นการตกปลานอกบ้านทั้งสิ้น ที่สำคัญคือต้องนำคนเข้าหาศาสนาหรือนำคนนอกวัดเข้าวัดของเรา นี่คือก้าวแรกของการเผยแผ่เชิงรุก
        สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่ทำงานเชิงรุกเพราะเห็นแก่ลาภสักการะส่วนตัว ดังที่หลวงพ่อชาสอนท่านสุเมโธว่า จงไปบิณฑบาตเอาคน ไม่ใช่ไปบิณฑบาตเอาของ เมื่อเราจัดงานวัดจนสามารถดึงคนหนุ่มสาวเข้าวัดได้มาก นั่นคือความสำเร็จตามนโยบายข้อนี้ เมื่อคนเข้าวัดแล้ว เราสอนเขาให้ดีก็แล้วกัน เนื่องจากเราทำงานคนเดียวไม่ได้ จึงต้องใช้นโยบายข้อที่สองต่อไป
        นโยบายข้อที่สอง  ประสานสิบทิศ  หมายถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น คือดึงคนเก่งมาช่วยทำงานในด้านที่เราไม่ถนัด  "เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก" นั่นคือรวบรวมคนเก่งจากนอกวัดให้มาช่วยงานเผยแผ่พระศาสนาที่จัดทำขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด
        มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเปิดสอนในระดับอุดมศึกษาเมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารสมัยโน้นได้เชิญคฤหัสถ์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนบางวิชา เช่นเดียวกับการที่สมัยโบราณมีการเชิญนักปราชญ์ราชบัณฑิตฝ่ายฆราวาสมาสอนบาลีแก่พระสงฆ์ที่วัดพระแก้ว นี่คือตัวอย่างของการประสานสิบทิศในอดีต
        ดังนั้น คำว่า ประสานสิบทิศ หมายถึงการเชิญคนเก่งจากทุกสารทิศมาช่วยงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่นให้มาช่วยวางแผนงาน ช่วยทำเว็บไซต์ ช่วยทำวิทยุโทรทัศน์ ช่วยแปลบทเทศนาเป็นภาษาต่างประเทศ ช่วยติดต่อราชการแทนเรา เนื่องจากเรามีความสามารถหรือมีเวลาจำกัด เราจึงต้องหาคนมาช่วยงานพระศาสนา
          ผู้ที่จะประสานอย่างนี้ได้ต้องมีความสามารถในการบริหาร คำว่าบริหารหมายถึงการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น (Management is getting thing done through other people)  เราเริ่มต้นด้วยการทำตัวให้น่าคบหาสมคม    คือมีหน้าตารับแขก ไม่ใช่เป็นคนหน้าตาบอกบุญไม่รับ  พระสงฆ์ต้องเป็นคนอุตตานมุขี  คือมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  และปุพพภาสี  คือทักทายคนอื่นก่อน ไม่ปล่อยให้เขาเก้อเขินเมื่อมาถึงวัด นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ประสานสิบทิศ
        เมื่อเรารู้ว่ามีคนเก่งที่เราต้องการให้ช่วยงานของเราอยู่ที่ไหน เราต้องไปหาเขาที่นั่นหรือส่งบัตรเชิญไป เหมือนกับที่เล่าปี่ลงทุนไปเชิญขงเบ้งด้วยตนเองถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เล่าปี่จึงได้พบขงเบ้ง เขายอมนั่งคุกเข่ารออยู่เป็นชั่วโมง ขงเบ้งจึงใจอ่อนรับปากไปช่วยงาน เล่าปี่เป็นคนที่เห็นคุณค่าของคนเก่งและยกย่องคนเก่ง เขาได้ฉายาว่า ผู้พนมมือแก่คนทุกชั้น
        หลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงเล่าว่า ตอนที่ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงได้ไม่นาน กำนันคนสำคัญไม่ยอมเข้ามาช่วยงานวัด ทั้งยังตั้งตัวเป็นฝ่ายค้านโจมตีสมภารอยู่นอกวัด หลวงพ่อจึงตัดสินใจไปเชิญกำนันมาเป็นกรรมการวัด  ท่านลงทุนถือจดหมายเชิญไปบ้านกำนันด้วยตนเอง เข้าทำนองว่า “จะเอาลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ” พอกำนันเห็นว่าหลวงพ่อกำลังจะขึ้นบ้าน เขาโดดเรือนหนีไปทางหลังบ้านต่อหน้าต่อตาหลวงพ่อ พระก็ทำเป็นไม่เห็น ท่านฝากจดหมายเชิญไว้กับภรรยากำนัน ก่อนจะกลับวัด ท่านพูดชมกำนันให้ภรรยาเขาฟังว่าเก่งอย่างนั้นดีอย่างนี้ จนภรรยากำนันเห็นใจหลวงพ่อ ต่อมากำนันได้ถือหนังสือเชิญของหลวงพ่อมาเข้าประชุมที่วัดตามคำบัญชาของภรรยา 
        แม้กำนันจะเข้าประชุมที่วัดโดยไม่ยินยอมพร้อมใจเท่าไรนัก แต่เขาก็เลิกเป็นปฏิปักษ์กับหลวงพ่อตั้งแต่นั้นมา ผมถามหลวงพ่อว่า ทำไมท่านจึงคิดเชิญกำนันมาเป็นกรรมการวัด  หลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ตอบว่า  เขาเป็นกำนันอิทธิพล เมื่อเขาพูดอะไร คนมักเชื่อเขา หากปล่อยให้เขาโจมตีเราอยู่ฝ่ายเดียวภายนอกวัด สมภารจะทำงานลำบากมาก ทางที่ดีคือเชิญเขาเข้ามาประชุมกับเรา ถ้าเขาว่าร้ายเราในที่ประชุม เรายังมีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจ ข้อสำคัญ เราต้องทนฟังเขาวิจารณ์เราได้
        วิธีการหาทรัพยากรจากภายนอกมาช่วยงานของเรานี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  Outsourcing  บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกต่างใช้วิธีดึงตัวคนเก่งมาทำงานให้บริษัท ดังที่ท่านประธานธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพีหรือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวถึงนโยบายของซีพีว่า  “สินค้าทั่วโลกเป็นของซีพี  คนเก่งทั่วโลกเป็นคนของซีพี” 
         เมื่อผมถามว่าหมายถึงอะไร  ท่านประธานอธิบายให้ผมฟังว่า  ซีพีค้าขายผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร  เราไปสำรวจดูว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ต่างประเทศเขาผลิตได้ดีกว่าเรา  เราซื้อมาเป็นของเรา แล้วนำไปขายยังมุมอื่นของโลกที่ได้ราคาดีกว่า  ถ้าคนอื่นผลิตได้ดีกว่าเรา  เราไม่ต้องไปแข่งกับเขาหรอก ซีพีปฏิบัติต่อคนเก่งเช่นเดียวกัน คือพยายามผูกมิตรและเชิญมาช่วยงานของซีพี แม้ในเบื้องต้น เขาไม่ใช่คนของซีพี แต่เมื่อเชิญชวนมาร่วมงานบ่อยเข้า เขาก็เป็นคนของซีพี
        ปีนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยยังคงรับอาสารัฐบาลและมหาเถรสมาคมจัดวิสาขบูชาโลกเป็นปีที่ ๕   มีคนต่างประเทศมาร่วมงาน ๑,๓๐๐  คน จาก ๗๐ กว่าประเทศทั่วโลก เราทำงานใหญ่อย่างนี้ได้เพราะความช่วยเหลือของคนเก่งทั่วโลก เรายึดนโยบายเดียวกับซีพี นั่นคือ คนเก่งทั่วโลกเป็นของมหาจุฬาฯ  เราทำงานใหญ่ระดับโลกอื่นๆ เช่น ตั้งสมาคมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) ได้สำเร็จก็เพราะนโยบายประสานสิบทิศนั่นเอง
        นโยบายข้อที่สาม  ผูกมิตรทั่วหล้า หมายความว่า นักเผยแผ่ศาสนาต้องผูกมิตรกับคนทั่วโลก เพราะเรามุ่งทำประโยชน์ให้ชาวโลกดังพระพุทธดำรัสที่ว่า “เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก” เราต้องยึดตามโอวาทของพระพุทธองค์ที่ว่า “อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายใคร อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายใคร”
        การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้าถูกแบ่งตามกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์ออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
๑.    โลกัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหมดโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา
๒.    พุทธัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่พุทธบริษัท ๔
๓.    ญาตัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระประยูรญาติตามฐานะอันควร
        ดังนั้น เราต้องพยายามทำประโยชน์แก่กลุ่มคนให้ครบทั้ง ๓ ประเภท ที่สำคัญคือ นักเผยแผ่พระศาสนามุ่งออกไปสร้างมิตร ไม่ใช่ไปสร้างศัตรู โดยยึดคติที่ว่า “มีศัตรูหนึ่งคนนับว่ามากเกินไป มีมิตร ๕๐๐ คนก็นับว่าน้อยเกินไป” ยิ่งเราเป็นพระธรรมทูตไปทำงานในต่างแดน เรายิ่งต้องหาพันธมิตรไว้ให้มาก พยายามล้อมรั้ววัดด้วยไมตรี คือผูกมิตรกับคนรอบวัดแทนการสร้างกำแพงวัดสูงท่วมหัว
        คัมภีร์โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติสอนว่า “เศษหนี้ ๑ เศษไฟ ๑ เศษศัตรู ๑ ย่อมจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น จึงไม่ควรให้หลงเหลืออยู่”  ด้วยเหตุนี้ เราต้องทำลายศัตรูให้สิ้นซาก อับราฮัม ลินคอล์นมีวิธีทำลายศัตรูที่น่าสนใจดังนี้
        ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ลินคอล์นผู้เป็นประธานาธิบดีของฝ่ายเหนือได้กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่าพวกฝ่ายใต้เป็นคนดีที่หลงผิด พวกเขาไม่ใช่ศัตรูที่ฝ่ายเหนือจะต้องทำลายให้สิ้นซาก 
        คุณยายคนหนึ่งมีเลือดรักชาติรุนแรงรูสึกไม่พอใจที่ลินคอล์นกล่าวเช่นนั้นได้ลุกขึ้นประท้วงว่าท่านประธานาธิบดีไม่ควรยกย่องศัตรู แต่ควรคิดหาวิธีทำลายศัตรูมากกว่า
        ลินคอล์นกล่าวตอบว่า “คุณนายครับ ที่ผมยกย่องศัตรูก็เพื่อทำศัตรูให้เป็นมิตร การทำศัตรูให้เป็นมิตรมิใช่เป็นวิธีทำลายศัตรูที่ดีที่สุดละหรือ”
        เมื่อพระธรรมทูตไปทำงานต่างประเทศก็จะพบว่า บางทีชาวพุทธเป็นเสียงข้างน้อยในดินแดนเหล่านั้น เราต้องคบหากับผู้นำศาสนาอื่นซึ่งเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือในประเทศที่เราเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา การผูกมิตรกับผู้นำศาสนาต่างๆจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมีโอกาสก็ควรไปเข้าร่วมประชุมศาสนสัมพันธ์บ้างซึ่งเป็นการดำเนินตามนโยบายผูกมิตรทั่วหล้า
        หลวงพ่อพุทธทาสทำงานอยู่ที่สวนโมกข์ในภาคใต้ของไทยซึ่งมีคนไทยจำนวนไม่น้อยนับถือศาสนาอิสลาม หลวงพ่อพุทธทาสก็ใช้นโยบายผูกมิตรทั่วหล้า ดังจะเห็นได้จากปณิธานแห่งชีวิต ๓ ข้อที่ท่านประกาศไว้ดังนี้
        ๑.     ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน
        ๒.     ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
        ๓.     ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
        เพราะหลวงพ่อพุทธทาสได้ทำงานตามปณิธาน ๓ ข้อนี้มาตลอดชีวิตนั่นเอง ท่านจึงได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี ๒๕๔๙
        การผูกมิตรกับคนทั่วโลกไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ชื่อว่าเป็นไปตามแนวโลกัตถจริยาของพระพุทธเจ้า ดังมีเรื่องบันทึกไว้ในสีหสูตรว่า ครั้งหนึ่งสีหเสนาบดีผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ซึ่งก็คือศาสดาของศาสนาเชนในปัจจุบันได้ทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า เมื่อได้รับคำตอบจนหายสงสัยแล้วเขาได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ จากนั้น เขาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเขาจะปฏิบัติอย่างไรต่อนักบวชนิครนถ์ซึ่งมารับบิณฑบาตที่บ้านของเขาทุกวัน พระพุทธเจ้าไม่ทรงบอกสีหเสนาบดีให้หยุดใส่บาตรพวกนิครนถ์ แต่กลับทรงอนุญาตให้เขาใส่บาตรอย่างนั้นต่อไปด้วยพระดำรัสว่า “สีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านควรสำคัญบิณฑบาตที่ท่านจะพึงให้แก่พวกนิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปหาแล้ว”
        แม้จะนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว สีหเสนาบดียังคงใส่บาตรพวกนิครนถ์ต่อไปโดยไม่ถือว่าเป็นการแสวงบุญนอกพระศาสนา เขาทำทานแก่คนนอกศาสนาเพื่อเป็นการสงเคราะห์และผูกมิตรทั่วหล้า ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” 
        การที่พระธรรมทูตผูกมิตรกับคนทั้งปวงเท่ากับสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานขึ้นมาก็สามารถหาทางแก้ปัญหาได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเครือข่ายที่สร้างไว้นั้น ดังกรณีของท่านเจ้าคุณพระราชวิริยาภรณ์(สวัสดิ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดไพชยนต์พลเสพย์ที่พระประแดง 
        เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้วยังไม่มีถนนจากราษฎร์บูรณะไปอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทางราชการประสงค์จะตัดถนนสายนี้แต่ก็ติดขัดด้วยต้องผ่านที่วัดและที่ประชาชนจำนวนมาก คณะสังฆมนตรีได้ขอให้พระราชวิริยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดไพชยนต์พลเสพย์สมัยนั้นช่วยดำเนินการให้มีถนน ปรากฏว่าพระราชวิริยาภรณ์สามารถประสานให้ชาวบ้านบริจาคที่ดินสร้างถนนจนสำเร็จ แม้แต่เจ้าของที่ดินที่เป็นชาวมุสลิมก็ให้ความร่วมมือแก่ท่านด้วยดี วัดไพชยนต์พลเสพย์เองก็เฉือนที่ธรณีสงฆ์ร่วมบริจาคสร้างถนนไปด้วย ผลออกมาว่า พระราชวิริยาภรณ์ช่วยทางราชการให้สร้างถนนเสร็จโดยไม่ต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ทางราชการจึงตั้งชื่อถนนเส้นนั้นว่าถนนพระราชวิริยาภรณ์
        นโยบายข้อที่สี่  บริหารปัญญา  หมายถึงว่า พระธรรมทูตต้องเป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคม การจะเป็นพระธรรมทูตต้องมีอัตตหิตสมบัติคือมีความพร้อมส่วนตัวในเรื่องสติปัญญา อย่างน้อยต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการดังกล่าวมาแล้ว เมื่อตนเองมีความพร้อมในระดับหนึ่งจึงจะสามารถทำปรหิตปฏิบัติ คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นต่อไป
        เราต้องไม่ลืมว่าพระสงฆ์ ๖๐ รูปที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนารุ่นแรกนั้นล้วนมีอัตตหิตสมบัติคือเป็นพระอรหันต์ทุกรูป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์" จึงพร้อมที่จะทำปรหิตปฏิบัติเพื่อประกาศพระศาสนา
        ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระโพธิสัตว์ที่ประกาศว่าจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ก็ล้วนแต่เคยบำเพ็ญบารมีมาแล้วในระดับหนึ่งจนมีอัตตหิตสมบัติมากพอที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ดังกรณีของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานที่ได้บำเพ็ญบารมีมาจนมีอัตตหิตสมบัติเต็มเปี่ยมแล้วสถิตอยู่ในฐานะเป็นเทพบนสรวงสวรรค์โดยไม่ยอมเข้านิพพาน ท่านขอเป็นพระโพธิสัตว์ผู้คอยสอดส่องช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ประสบทุกข์ต่อไปจนกว่าวิญญาณดวงสุดท้ายจะพ้นจากขุมนรก พระกษิติครรภโพธิสัตว์ได้ถือปฏิญญาว่า “ตราบเท่าที่ยังมีวิญญาณเหลืออยู่ในนรก เราจะไม่ยอมเข้านิพพาน”
        การที่พระโพธิสัตว์จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้ ตนเองก็ต้องมีความพร้อมอยู่ด้วย ความพร้อมนี้คืออัตตหิตสมบัติ พระธรรมทูตก็เช่นเดียวกันคือต้องมีความพร้อมจึงไปประกาศพระศาสนาอย่างได้ผล การเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรครั้งนี้จัดเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งก่อนที่จะลงสนามจริง มีสุภาษิตว่า “การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง” การเริ่มต้นที่ดีเกิดจากการเตรียมตัวให้พร้อมซักซ้อมให้ดี ขอฝากคติธรรมแด่ท่านทั้งหลายว่า “อย่าพูดโดยไม่เตรียมการ อย่าทำงานโดยไม่เตรียมตัว”
        เราเตรียมตัวทำงานด้วยการบริหารปัญญา ๒ วิธี ดังนี้
๑.    เตรียมหาปัญญาใส่ตัวเอาไว้ใช้ในภายหน้า
๒.    เตรียมอาศัยปัญญาของคนอื่นในยามอับจน
         ประการแรก เราต้องศึกษาหาความรู้อย่างเป็นระบบตามภารกิจหลักที่เราถูกคาดหวัง เช่น ถ้าเขาขอให้ท่านไปเป็นพระวิปัสสนาจารย์ ท่านก็ต้องไปเรียนและฝึกกรรมฐานตามสำนักต่างๆมาแล้ว ถ้าเขาขอให้ท่านไปสอนธรรม ท่านก็ต้องผ่านการฝึกสอนธรรมทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
        ประการที่สอง เมื่อถึงเวลาต้องทำงานจริง ความรู้ที่เราหาตรียมไว้มักไม่เพียงพอหรือไม่ตรงกับภารกิจจริง เราอาจเกิดอับจนปัญญาขึ้นมาก็ได้ คือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหรือตัดสินใจไม่ถูก ในสถานการณ์แบบนี้ เราต้องอาศัยปัญญาของกัลยาณมิตรเป็นที่ปรึกษา วงการทหารเรียกว่าเสนาธิการหรือกุนซือ ในเรื่องสามก๊ก เล่าปี่ยามอับจนหนทางพอได้ขงเบ้งมาเป็นกุนซือสามารถเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้เป็นชัยชนะ 
        ก่อนออกสู่สนามรบ นักรบแห่งกองทัพธรรมต้องแสวงหากุนซือหรือกัลยาณมิตรที่ปรึกษาด้วยการสร้างเครือข่ายปัญญาที่เป็นตัวบุคคลและแหล่งข้อมูลเพื่อเอาไว้ใช้ในยามอับจนปัญญา เครือข่ายปัญญาที่ดีนั้นต้องสามารถหาคำตอบที่ถูกต้องให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันเวลาที่ต้องการ (Getting the right answer to the right question at the right time)
        มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้อาศัยเครือข่ายปัญญาแบบนี้แก้ปัญหามาหลายครั้งแล้ว เช่น เราได้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ปัญหาในการทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ ๕ ปีครั้งแรก เราได้นักปราชญ์ราชบัณฑิตมาช่วยแปลพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เราได้สถาปนิกและวิศวกรมาออกแบบและควบคุมการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยที่วังน้อย  เราได้นักปราชญ์และผู้นำชาวพุทธมาช่วยจัดงานวิสาขบูชาโลก ฯลฯ 
        ไม่มีงานยิ่งใหญ่อันใดที่เราจะทำสำเร็จโดยไม่อาศัยปัญญาของคนอื่น เมื่อเผชิญปัญหา เราจึงควรฟังคำแนะนำของที่ปรึกษา เมื่อไม่มีที่ปรึกษาเป็นตัวบุคคล เราอาจแสวงหาคำตอบจากหนังสือหรือตำรับตำราก็ได้ มีตัวอย่างไม่น้อยที่หลายคนประสบปัญหาชีวิตแล้วอ่านหนังสือธรรมสอนใจพาตัวเองผ่านวิกฤตมาได้ และก็มีตัวอย่างที่บางคนหลงคิดว่าตัวเองเก่งเสียเต็มประดา ไม่ยอมฟังคำของกุนซือหรือที่ปรึกษาจึงประสบความหายนะล่มจมในที่สุด
        สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(ติสสมหาเถร)นิพนธ์ไว้ว่า
        “โง่ไม่เป็นเป็นใหญ่ยากฝากให้คิด
        ทางชีวิตจะรุ่งโรจน์โสตถิผล
        ต้องรู้โง่รู้ฉลาดปราดเปรื่องตน
        โง่สิบหนดีกว่าเบ่งเก่งเดี๋ยวเดียว” 
        คนคนเดียวไม่อาจจะฉลาดไปทุกเรื่อง เราต้องยอมรับว่าตัวเราอาจจะฉลาดในบางเรื่องแต่ก็โง่ในหลายเรื่อง เรื่องใดที่เรารู้ตัวว่าโง่เราต้องไปศึกษาเรื่องนั้นจากท่านผู้รู้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ” เป็นต้นแปลความว่า “คนโง่ที่รู้ตัวว่าโง่ยังเป็นคนฉลาดได้บ้าง ส่วนคนโง่ที่สำคัญตัวว่าฉลาด นับว่าโง่จริงๆ”
        ขงจื๊อกล่าวว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่งหรือมีความสามารถหรือไม่ จงห่วงว่าสักวันหนึ่งเมื่อมีคนยกย่องท่านหรือให้ตำแหน่งท่าน ท่านมีความรู้ความสามารถสมกับที่เขายกย่องท่านหรือให้ตำแหน่งท่านหรือเปล่า”
        ก่อนออกศึก ทหารต้องฝึกซ้อมรบให้พรักพร้อมก่อนฉันใด ก่อนที่นักรบแห่งกองทัพธรรมจะเข้าสู้สนามรบก็ต้องเตรียมตัวให้เพียบพร้อมด้วยความรู้ความสามารถไว้ก่อนฉันนั้น อย่าคิดไปตายเอาดาบหน้าในสนามรบ เพราะคนที่คิดอย่างนั้นมักจะตายจริงๆ
        ดังนั้น นักรบแห่งกองทัพธรรมต้องไม่ประมาทคือเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการแสวงหาปัญญาใส่ตนและการสร้างเครือข่ายที่พึ่งทางปัญญาทั้งที่เป็นตัวบุคคลและแหล่งข้อมูลข่าวสารทุกประเภท    
        นโยบายข้อสุดท้าย  สาลิกาป้อนเหยื่อ  หมายถึงลีลาสอนธรรมให้เหมาะกับระดับของผู้ฟังเช่นเดียวกับแม่นกสาลิกาเมื่อป้อนเหยื่อให้ลูกนกจะทำเหยื่อแต่ละคำให้พอดีกับปากของลูกนก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด” 
        การสอนสอนธรรมที่ดีต้องมีการเลือกใช้ลีลาให้เหมาะกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแบ่งคนฟังธรรมออกเป็น ๔ ประเภทเหมือนดอกบัว ๔ เหล่า แต่ละประเภททรงใช้ลีลาการสอนธรรมไม่เหมือนกัน เช่นทรงยกหัวขึ้นแสดงโดยย่อสำหรับพวกบัวพ้นน้ำ ทรงอธิบายขยายความพอสมควรสำหรับพวกบัวปริ่มน้ำ ทรงแสดงธรรมแบบธรรมาธิษฐานสำหรับพวกบัวพ้นน้ำ ทรงแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐานสำหรับบัวประเภทอื่น
        ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าที่หยิบใบประดู่ลายกำมือหนึ่งแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าใบไม้ในกำมือของเรากับใบไม้ในป่าอันไหนมากกว่ากัน   พระก็ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าใบไม้กำในมือของพระองค์น้อยกว่า  ใบไม้ในป่ามากกว่า  พระพุทธเจ้าตรัสว่า    ธรรมที่เราตรัสรู้มีมากมายมหาศาลเปรียบเหมือนกับใบไม้ในป่าทั้งป่า  แต่ที่เรานำมาสอนพวกเธอทั้งหลายน้อยนิดประดุจดังใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น  เราไม่ได้สอนทั้งหมดที่เรารู้  เราสอนเฉพาะเรื่องที่พวกเธอควรรู้  ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย  เพื่อคลายกำหนัด  เพื่อดับทุกข์  เพื่อนิพพาน  
        พุทธพจน์นี้แสดงถึงหลักการเลือกสอนธรรมให้เหมาะกับผู้ฟัง เราไม่สอนทุกเรื่องที่เรารู้ แต่สอนเรื่องที่เขาควรรู้หรืออยากรู้ เหมือนแม่นกสาลิกาเลือกเหยื่อให้พอดีกับปากของลูกนก
        นักสอนธรรมบางคนไม่คำนึงถึงระดับสติปัญญาของผู้ฟัง เขาเทศน์อัดธรรมเต็มที่จนผู้ฟังตาลอย พอผู้ฟังตามเขาไม่ทัน เขาก็หาว่าผู้ฟังโง่ ใครที่คิดว่าผู้ฟังโง่ต้องเตือนตัวเองด้วยภาษิตอุทานธรรมที่ว่า
        “ถ้าพูดไปเขาไม่รู้อย่าขู่เขา
        ว่าโง่เง่างมเงอะเซอะนักหนา
        ตัวของเราทำไมไม่โกรธา
        ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้าใจ”
        หลักการสอนธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจคือการถือผู้ฟังเป็นศูนย์กลางและปรับลีลาการสอนให้สอดคล้องกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง นั่นคือการแสดงธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและงามในที่สุด มีคำอธิบายว่า คำขึ้นต้นท่านเรียกว่านิทานพจน์ คำลงท้ายเรียกว่านิคมพจน์ ส่วนที่เหลือเรียกว่าท่ามกลาง
        ลีลาการสอนธรรมแบบสาลิกาป้อนเหยื่อสรุปได้ว่า “ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น เด่นชัดในตอนกลาง ชี้ทางในตอนจบ”
        การขึ้นต้นจะให้ตื่นเต้นต้องเริ่มเปิดฉากด้วยการสร้างความสงสัยหรือประหลาดใจแก่ผู้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้โจรองคุลิมาลสงสัยอยากสนทนาธรรมด้วยเมื่อทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า “เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด”
        ในกสิภารทวาชสูตร ชาวนาคนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าออกมาบิณฑบาตใกล้ที่นาของเขา เขาไม่อยากใส่บาตรจึงเตือนพระพุทธเจ้าว่า “คนทำนาจึงมีข้าวกิน พระองค์ก็ควรทำนาบ้าง” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าพระองค์ก็ทำนาเหมือน ชาวนาคนนั้นรู้สึกประหลาดจึงถามว่าถ้าพระองค์ก็ทำนา อุปกรณ์ในการทำนาอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “ศรัทธาของเราเป็นเมล็ดพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ”
        ครั้งหนึ่ง พระครูพิศาลธรรมโกศลหรือหลวงตาแพรเยื่อไม้รับนิมนต์ไปอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ ท่านเริ่มต้นด้วยถ้อยคำสะดุดหูผู้ฟังว่า “วันนี้จะพูดเรื่องติดคุกเป็นมงคล”
        วันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งมาหาผมที่วัดแล้วถามคำถามประหลาดว่า “ผมจะฆ่าใครดี เมียผมมีชู้ ลูกผมก็ยังเล็กมาก ถ้าผมฆ่าเมียตาย ผมติดคุก ลูกผมจะอยู่กับใคร ถ้าผมฆ่าตัวตาย เมียผมก็สบายกับผัวใหม่ ถ้าผมฆ่าตัวผม เมียผมและลูกผม ผมก็คิดว่าลูกผมไม่ผิดอะไร ทำไมจะต้องตายด้วย ผมคิดไม่ตกว่าจะฆ่าใครดี”
        ผมตอบเขาทันทีว่า “ฆ่าความโกรธในใจของคุณนั่นแหละดีที่สุด” คำตอบนี้ทำให้เขาตั้งใจฟังผมต่อไป เมื่อสนทนาธรรมจบลง เขาบอกว่าเขาไม่คิดจะฆ่าใครอีกเลย
        การเริ่มต้นให้ตื่นเต้นเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนธรรม ต่อจากนี้ไปเรียกว่าตอนกลาง เราต้องใช้ลีลาการสอนที่ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนตามหลักการสอน ๔ ส ดังนี้
๑.    สันทัสสนา แจ่มแจ้ง คืออธิบายขยายความได้ชัดเจน
๒.    สมาทปนา จูงใจ คือทำให้เกิดศรัทธา
๓.    สมุตเตชนา แกล้วกล้า คือ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้
๔.    สัมปหังสนา ร่าเริง คือผู้ฟังได้ธรรมรสและรู้สึกเบิกบานสบายใจ
        ที่ว่า “เด่นชัดในตอนกลาง” ก็คือสอนให้ได้ผล ๔ ประการดังกล่าวนี้ รายละเอียดในเรื่องนี้หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือของผมเรื่องตำนานสาลิกาป้อนเหยื่อและหนังสือเรื่องวิชาการเทศนาของสำนักวัดประยุรวงศาวาส
        เมื่อพระธรรมทูตสอนธรรมจบลงทุกครั้งควรประเมินผลการสอนว่าเราทำได้กี่ข้อ 
        ถ้าท่านสอนได้ครบ ๔ ข้อ คือได้ ๔ ส ผมให้คะแนนระดับดีมาก  
        ถ้าท่านสอนได้ ๓ ส ผมให้คะแนนระดับดี 
        ถ้าท่านสอนได้ ๒ ส ผมให้คะแนนระดับพอใช้ 
        ถ้าสอนได้แค่ ๑ ส ผมให้คะแนนระดับต้องปรับปรุง
        ถ้าท่านไม่ได้สัก ส เดียว ผมเสนอว่าท่านไปทำงานอย่างอื่นดีกว่า อย่าสอนธรรมเลย มิฉะนั้นจะเป็นการโปรดสัตว์ได้บาป เพราะผู้ฟังอาจจะเบื่อการฟังธรรมไปอีกนานทีเดียวเพราะท่านเป็นเหตุ  
        ที่ว่า “ชี้ทางในตอนจบ” คือก่อนจบทุกครั้งให้สรุปเป็นข้อคิดหรือหลักปฏิบัติสั้นๆเพื่อให้ผู้ฟังใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป การชี้ทางปฏิบัติเป็นหน้าที่ของนักสอนธรรม ดังคำประพันธ์ที่ว่า “ชี้ทางบรรเทาทุกข์  และชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย”
        หลวงพ่อพระพุทธวรญาณ (มงคล) อดีตเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสมักเตือนผู้ฟังธรรมทุกครั้งว่า “ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ นำเอาไปปฏิบัติ” โดยนัยนี้ ผู้สอนธรรมต้องสรุปเป็นคติธรรมประจำใจให้ผู้ฟังจดจำและนำเอาไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับนักเล่านิทานทั้งหลายมักลงท้ายด้วยคำว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า”
        ต่อไปนี้ ผมขอถือโอกาสสรุปส่งท้ายให้ท่านทั้งหลายจดจำและนำเอาไปปฏิบัติในชีวิตจริง
บทสรุป
        รวมความว่า พระธรรมทูตและพระนักเผยแผ่พระศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องดำเนินตามนโยบายการเผยแผ่พระศาสนาหรือธรรมประกาศโนบายที่พระพุทธองค์ทรงประทานแก่พระอรหันต์รุ่นแรก ๖๐ รูป ซึ่งผมขยายเป็นนโยบาย ๕ ข้อ ดังต่อไปนี้
๑.    ตกปลานอกบ้าน หมายถึงการออกไปสอนธรรมนอกวัดเพื่อดึงคนเข้าหาพระศาสนา สมัยนี้เราสามารถอาศัยสื่อต่างๆส่งธรรมออกไปถึงชาวบ้านโดยที่ตัวเรายังอยู่ภายในวัด
๒.    ประสานสิบทิศ หมายถึงการรวบรวมคนดีมีฝีมือนอกวัดมาช่วยงานเผยแผ่พระศาสนาที่จัดขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด
๓.    ผูกมิตรทั่วหล้า หมายถึงการยื่นไมตรีจิตมิตรภาพให้กับคนทุกคน แม้กระทั่งเพื่อนร่วมโลกที่นับถือศาสนาอื่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
๔.    บริหารปัญญา หมายถึงการศึกษาหาความรู้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการเผยแผ่พระศาสนาและการสร้างเครือข่ายแห่งปัญญาเพื่อใช้เป็นที่ปรึกษาและแหล่งอ้างอิง
๕.    สาลิกาป้อนเหยื่อ หมายถึงการลงมือเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยลีลาการสอนธรรมที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือขึ้นต้นให้ตื่นเต้น เด่นชัดในตอนกลาง ชี้ทางในตอนจบ
        ผมได้ทำหน้าที่ผู้บอกทางให้กับท่านทั้งหลายแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายที่จะนำเอาธรรมประกาศโนบายทั้ง ๕ ข้อไปถือปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตุมเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา” แปลความว่า “ท่านทั้งหลายต้องทำความเพียรเอง พระตถาคตเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง”
        เมื่อปฏิบัติตามนโยบายนี้ บางท่านทำได้มากข้อ บางท่านทำได้น้อยข้อ บางท่านทำไม่ได้สักข้อ เราจึงได้พระธรรมทูต ๓ แบบ คือ แบบแครอท แบบไข่และแบบกาแฟ ผมให้ท่านเลือกว่าท่านจะเป็นพระธรรมทูตแบบไหน
        เราหาภาชนะสำหรับต้มน้ำมา ๓ ใบ ใส่น้ำค่อนภาชนะ จากนั้นยกภาชนะทั้งสามวางไว้บนเตาแล้วทิ้งไว้ ๑๕ นาทีจนน้ำเดือดได้ที่แล้วหยิบแครอทใส่ลงในภาชนะที่ ๑ ใส่ไข่ลงในภาชนะที่ ๒ และใส่เมล็ดกาแฟลงในภาชนะที่ ๓ ต้มในน้ำเดือดสักพักหนึ่งแล้วตักแครอทและไข่ออกมาวางไว้ในชาม รินน้ำกาแฟสีดำใส่แก้ว เมื่อตรวจดูของทั้งสามอย่าง ผลที่ออกมาแตกต่างกันดังนี้
๑.    ก่อนต้ม แครอทแข็ง เมื่อต้มแล้ว แครอทอ่อนนิ่ม
๒.    ก่อนต้ม ไข่เปราะบาง เมื่อต้มแล้ว ไข่แข็ง
๓.    ก่อนต้ม เมล็ดกาแฟแข็ง  เมื่อต้มแล้วละลายกลายเป็นน้ำกาแฟหอมกรุ่น
        ชีวิตของคนเราเหมือนแครอท ไข่หรือกาแฟอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับว่าธาตุแท้ของเราเป็นแบบไหน ภาชนะน้ำเดือดเป็นเหมือนเวทีเผยแผ่ธรรมของเรา พอได้ขึ้นเวทีแล้ว ผลออกมาต่างกันดังนี้
๑.    บางคนเป็นแบบแครอท คือก่อนขึ้นเวทีทำงานจริงดูเป็นคนมาดเข้ม ท่าทางสู้งานดี แต่พอทำงานจริงเจอปัญหาหนักเข้า บ่นปวดหัว ร้องไห้กระจองอแง อยากลาออกทุกวัน แบบนี้เป็นโลกาธิปไตยคือยอมให้คนอื่นมาบงการชีวิต
๒.    บางคนเป็นแบบไข่ คือก่อนขึ้นเวทีทำงานจริง ดูท่าทางนุ่มนิ่ม ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรกับทุกคน หลังจากได้ทำงานไปสักพักหนึ่งเจอปัญหาหนักเข้า มีท่าทางเคร่งเครียด กลายเป็นคนปากจัด โจมตีเจ้านายทุกวัน แบบนี้เป็นอัตตาธิปไตย เอาแต่ใจตัวเอง
๓.    บางคนเป็นแบบกาแฟที่ปรับสภาพของน้ำให้มีสีและกลิ่นตามกาแฟ แต่เมล็ดกาแฟก็ละลายในน้ำร้อน คนแบบนี้เรียนรู้จากความผิดพลาด สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ฉลาดในการปรับปรุงตนเองและเปลี่ยนแปลงงานให้พัฒนาไปด้วยกัน แบบนี้เป็นธรรมาธิปไตย คือพบกันครึ่งทางเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
        ถามว่าท่านอยากเป็นพระธรรมทูตแบบไหน คือแบบแครอท แบบไข่หรือแบบกาแฟ 
        ผมเสนอว่าแบบกาแฟจะดีที่สุด
        ขอทุกท่านจงเป็นพระธรรมทูตแบบกาแฟที่สามารถปรับตัวปรับงานให้ประสบความสำเร็จได้ตลอดกาลนาน เทอญ 

        

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? ( 125.5 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? ( 20 kb )
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? ( 20 kb )
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)
(20 kb)

เขียนเมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2556 | อ่าน 9364
เขียนโดย พระมหาสุรชัย สุรทสฺสี

 
 
 
 
 
หนังสือธรรมะอื่นๆ
Sucaritadhammakatha
The most venerable Prof. Dr Phra Brahmapundit (เปิดอ่าน 11115 )
4/5/2565
อิทธิบาทกถา ว่าด้วยอิทธิบาททำให้อายุยืน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13381 )
9/2/2565
สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14021 )
30/11/2564
โควิทกถา รวมเทศนาในสถานการณ์โควิด
แสดงโดย...พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ศ.,ดร. เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส (เปิดอ่าน 16043 )
17/9/2564
ปรักกมกถา ว่าด้วยความมุ่งมั่น (ในสถานการณ์โควิด ๑๙)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 15178 )
22/8/2564
พุทธิวินยกถา ว่าด้วยความรู้คู่ระเบียบวินัย (ต้านภัยโควิด ๑๙)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 15318 )
19/8/2564
อนาวิลจิตตกถา ว่าด้วยใจไม่ขุ่นมัว (ในสถานการณ์โควิด)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 15267 )
29/7/2564
อัตตทมกถา ว่าด้วยการปรับตัว (ในสถานการณ์โควิดระลอกที่ ๑)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14265 )
19/7/2564
กิมานันทกถา ว่าด้วยบันเทิงกันได้อย่างไร (เตรียมตัวสู้ภัยโควิด)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 18623 )
16/7/2564
ฌานกถา ว่าด้วยการเพ่งพินิจ (ในสถานการณ์โควิดระลอกที่ ๓)
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 12857 )
15/7/2564
ทักไขยกถา ว่าด้วยทักษะชีวิต
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13905 )
17/6/2564
พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14133 )
27/5/2564
อจินตามยกถา ว่าด้วยความไม่ได้ดั่งใจ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13396 )
5/5/2564
สัจจกถา ว่าด้วยความจริง
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13282 )
4/5/2564
จักกธรรมกถา ว่าด้วยธรรมคือวงล้อ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13776 )
20/3/2564
อัคคทานกถา ว่าด้วยทานอันเลิศ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13843 )
14/3/2564
นาถกรณธรรมกถา ว่าด้วยธรรมสร้างที่พึ่ง
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 13485 )
12/3/2564
อภิรติกถา ว่าด้วยความยินดีพอใจ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14058 )
28/2/2564
ปริจาคกถา ว่าด้วยความเสียสละ
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (เปิดอ่าน 14385 )
24/2/2564
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 79 คน
วันนี้ 205 คน
เมื่อวานนี้ 1,212 คน
เดือนนี้ 13,112 คน
เดือนที่ผ่านมา 50,403 คน
ทั้งหมด 2,651,755 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob