แนะนำวัดประยุรวงศาวาส
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ข่าวประชาสัมพันธ์
 

๙ พระอัจฉริยภาพ สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิต ๒๕๕๙


 มจร | สถาบันสมทบ | พระพรหมบัณฑิต
>>>พระพรหมบัณฑิต ประชุมกับพระธรรมาจารย์ชิงติ้ง
>>>พระพรหมบัณฑิต ต้อนรับคณะวิทยาลัยเกาหลีใต้
มจร | เอเซีย | สิงคโปร์ | กวงหมิง | พระพรหมบัณฑิต
>>>พระพรหมบัณฑิต ได้รับการต้อนรับที่สนามบินสิงคโปร์
>>>พระพรหมบัณฑิต พบกับนายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง
>>>พระพรหมบัณฑิต พิธีเลี้ยงฉลองวันไหว้พระจันทร์
>>>พระพรหมบัณฑิต ประชุมเรื่องการประกันคุณภาพฯ
>>>พระพรหมบัณฑิต เยี่ยม ๓ วัด ในสิงคโปร์
มจร | ยุโรป | ฮังการี | ธรรมเกท | พระพรหมบัณฑิต
>>>พระพรหมบัณฑิต ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตฮังการี
>>>พระพรหมบัณฑิต ได้รับการต้อนรับจากนายยานอส เจเลน
>>>พระพรหมบัณฑิต บรรยาย'ปรัชญาอัตถิภาวกับพุทธปรัชญา'
>>>พระพรหมบัณฑิต เยี่ยมชมโบสถ์พันนอนฮาลมา
>>>พระพรหมบัณฑิต เยี่ยมชมอาคารรัฐสภาของฮังการี
>>>พระพรหมบัณฑิต เยี่ยมชมปราสาทบูดา
>>>พระพรหมบัณฑิต บันทึกเทปโทรทัศน์'เซนเทนเดอร์'
>>>พระพรหมบัณฑิต เยี่ยมวัดไทยรัตนประทีป บูดาเปสต์
>>>พระพรหมบัณฑิต ได้รับการถวายสมุดภาพเก่า ร.๕,ร.๖


          ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยได้ประจักษ์ถึง พระอัจฉริยภาพหลากหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ นิตยสาร แพรว ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ ๙ ท่านที่เป็นตัวแทนบอกเล่าพระอัจฉริยภาพ ๙ ด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิตและความคิดให้แก่บุคคลเหล่านี้ รวมถึงคนไทยทุกคน



                                             พระพรหมบัณฑิต

๑. พระอัจฉริยภาพด้านศาสนา
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารกรรมการมหาเถรสมาคม

          “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
          พระปฐมบรมราชโองการในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ คือแสงทองแรกของแผ่นดินนี้ โดยพระราชาที่พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่าทรงเป็นต้นแบบที่หาได้ยากยิ่ง

          “บุคคลที่เป็นอัจฉริยะคือ ผู้ที่สามารถบูรณาการความรู้ต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น นำวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงกับศาสนาได้อย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะหาใครเป็นแบบนั้น แต่บุคคลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          “สิ่งหนึ่งที่อาตมาประทับใจในพระอัจฉริยภาพของพระองค์คือ พระราชนิพนธ์ที่เกี่ยวกับศาสนาเช่น พระมหาชนก ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจในศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งที่ต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤตและมีขนาดยาว แต่ทรงแปลและทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ด้วยความไพเราะทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังทรงเสนอมุมมองใหม่ ๆ อันรวมถึงพระบรมราโชวาทที่ทรงนำธรรมะไปปรับใช้แล้วพระราชทานแก่ประชาชนอย่างแนบเนียนและกลมกลืน

          “แม้แต่การปกครองของพระองค์ก็สะท้อนอยู่ในทศพิศราชธรรม ดังพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ และตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ที่ทรงครองราชย์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์ชัดแล้วว่า พระราชจริยวัตรของพระองค์ทรงอยู่ในธรรม ไม่เคยคลาดเคลื่อนแม้แต่น้อย

          “หากยกตัวอย่างทศพิศราชธรรมข้อแรกคือ ทาน ถ้าเราทำบุญก็เป็นทานส่วนตน แต่ทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อันเป็นที่มาของโครงการตามแนวพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ นี่คือเหตุผลว่าในรัชกาลปัจจุบัน ถ้าประชาชนคิดถึงในหลวง ต้องทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล ตั้งแต่การบวช ปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม จะมีใครในโลกที่สามารถทำให้คนอยากทำความดีได้พร้อมเพรียงกันขนาดนี้

          “ทรงเป็นต้นแบบที่มีพลานุภาพ และทรงเป็นผู้นำที่อยู่ในใจของผู้คนอย่างแท้จริง”
 

                                             ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

๒.พระอัจฉริยภาพด้านเศรษฐศาสตร์
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา


          แม้จะเกษียณมา ๑๗ ปีแล้ว แต่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลยังคงถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างที่สุด

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ให้และนึกถึงผู้อื่นตลอดเวลา ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาจะลงทุนอะไรต้องยึดหลักผลตอบแทนว่า ทำแล้วได้กำไรหรือเปล่า แต่ในสายพระเนตรของพระองค์ท่าน หลายสิ่งตีค่าเป็นเงินไม่ได้ พระองค์ท่านเคยตรัสกับผมว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เราตีราคาไม่ได้หรอก คนไม่ใช่วัตถุช่วยได้เท่าไหร่ก็ต้องช่วย เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์พระราชดำรัสนี้สวนทางกับกระแสสังคมในปัจจุบันที่นิยมเงินและวัตถุ กอบโกยทุกอย่างจากประเทศชาติโดยลืมไปว่าตัวเองก็ยืนอยู่บนผืนดินนั้นด้วย และที่สำคัญคือ ลืมไปว่าลูกหลานที่รับช่วงต่อเขาจะอยู่กันอย่างไร

          “ในปีที่เริ่มเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ พระองค์ท่านทรงสอนหลักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเกิดการถกเถียงกันเยอะ นักวิชาการบางคนสรุปไปว่าเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสำหรับคนยากจน แต่ที่จริงแล้วเหมาะสำหรับคนทั้งโลก โดยยึดหลักของความพอประมาณใช้ให้พอดีกับความต้องการของตัวเอง คำว่าพอเพียง ไม่ได้หมายถึงต้องนุ่งผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง พระองค์ท่านตรัสว่าขับรถเบนซ์ก็ได้ ดูทีวีจอโต ๆ ก็ได้ แต่ต้องไม่กู้เงินใครเขามา มีเงินแค่ไหนก็ควรกินอยู่แค่นั้น

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับผมตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปถวายงานว่า ‘ไม่มีอะไรจะให้นะ นอกจากความสุขที่ได้ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น’ ประโยคนี้กลายเป็นกุญแจสำคัญในชีวิต แม้มีเงินร่ำรวย แต่ต้องนอนอยู่ในไอซียูจะมีความสุขอะไร ต่างจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่กลับมอบความสุขใจ

          “ผมจึงภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็น ๑ ใน ๖๕ ล้านคนที่มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านครับ”
 

                                      ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ

๓.พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา
ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา

          ท่านผู้หญิงทำงานที่โรงเรียนจิตรลดามานานเกือบ ๖ ทศวรรษแล้วและท่านยังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียน

          “ดิฉันภาคภูมิใจที่ได้เคยถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งก่อตั้งมาครบ ๖๐ ปี แล้ว โดยมีท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งโรงเรียนจิตรลดาเริ่มมีชั้นอนุบาลที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงเป็นนักเรียนจิตรลดาพระองค์แรก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาในชั้นอนุบาล ท่านผู้หญิงทัศนีย์ได้เรียกให้ดิฉันเข้ามาช่วยถวายการสอนและเป็นครูประจำชั้น

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและละเอียดอ่อนทางด้านการศึกษา พระองค์ทรงวางรากฐานเริ่มแรกว่า เด็กเพิ่งมาจากบ้าน อย่าบังคับ ครูควรทำให้เด็กรู้สึกว่าที่โรงเรียนเหมือนบ้านหลังที่สอง และดูแลเขาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งหัดให้เด็กดูแลตัวเองได้รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและรู้จักระเบียบวินัย ถ้าหัดได้อย่างดี เด็กก็จะจำและนำไปใช้จนเป็นผู้ใหญ่ และจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป นักเรียนในชั้นสูงขึ้น ทรงเน้นว่าไม่ควรเรียนเฉพาะในหนังสือ แต่ควรมีความรู้รอบตัวด้วย พระองค์ท่านจะเสด็จฯมาทอดพระเนตรการสอน การตรวจสมุดแบบฝึกหัดของครู พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายและพระราชดำริอย่างใกล้ชิด

          “พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรส พระราชธิดาได้เข้าพระทัยสภาพแวดล้อมภายนอกและปัญหาของผู้อื่น ฉะนั้นเด็กที่เข้ามาเรียนร่วมในชั้นเดียวกันจะมีหลายสถานภาพ ในชั้นเรียนของทูลกระหม่อมหญิงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน ซึ่งมาจากครอบครัวต่างสถานภาพ และในชั้นเรียนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯก็เช่นเดียวกันทรงมีพระบรมราโชบายไม่ให้ครูถวายสิทธิพิเศษแด่พระราชโอรสพระราชธิดา เพื่อจะได้ทรงวางพระองค์อย่างถูกต้อง มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบ

          “พระราชวิสัยทัศน์อีกประการหนึ่งคือ มีรับสั่งอยู่เสมอว่า คนเรามีความรู้ความสามารถไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องดูความถนัดของแต่ละบุคคลหาสิ่งที่เขาถนัดมาให้ศึกษา ทั้งที่ตอนนั้นเมื่อหกสิบปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้เน้นเรื่องเหล่านี้ ทรงทอดพระเนตรผลการศึกษาแต่ละวิชาของนักเรียนจิตรลดาด้วยพระองค์เองเสมอ และต่อมาในปี ๒๕๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์บริหารโรงเรียนจิตรลดา

          “ทุกวันนี้โรงเรียนจิตรลดายังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา ปัจจุบันความรู้ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็ต้องใช้ความรู้ให้เป็น

          “ถ้าใช้ถูกต้องจะเป็นคุณมหาศาลในการดำรงชีวิต เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติอย่างยิ่ง”
 

                      ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์

๔.พระอัจฉริยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกร โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ดังที่มีรับสั่งว่า “…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือ พลเมืองนั่นเอง…”

          “ตามที่ผมสังเกต แม้พระองค์ท่านจะมีพระราชภารกิจมากมายในทุกด้าน แต่เรื่องการแพทย์และสาธารณสุขนั้นทรงมีความห่วงใยในสุขอนามัย ความเป็นอยู่ของประชาชนเสมอ เมื่อก่อนเวลาเสด็จฯที่ไหนที่ยังไม่มีหน่วยแพทย์ก็พระราชทานยา พอมีหน่วยแพทย์เข้าไปแล้วก็เสด็จฯเข้าไปเยี่ยมเยียน ทรงมีความรู้ทางสาธารณสุขพอสมควร เวลาเสด็จฯไปที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลบางแห่ง ก็จะทรงทราบว่าที่นั้นมีจุดไหนที่ต้องช่วยเหลืออะไรบ้าง แม้กระทั่งตอนที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชต้องถวายงาน วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯมา มีรับสั่งถามว่า ‘จะเลี้ยงยุงเหรอ เอาน้ำมาขังไว้ทำไม’ คือทอดพระเนตรสังเกตเห็นหลุมบ่อมีน้ำขังบริเวณรั้วด้านหน้าหรือหลังตึก ซึ่งเราไม่ได้เดินเข้าไปดูแต่ทรงใส่พระทัยมาก เพราะยุงไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงพยาบาล แต่บินข้ามไปฝั่งอื่นได้

          “แน่นอนว่า เมื่อตอนที่พระองค์ท่านยังเสด็จออกทรงงานและเยี่ยมประชาชน ไม่ว่าจะเป็นท้องไร่ท้องนากันดารแค่ไหน ก็เสด็จลงแล้วเราจะไม่ตามอย่างเชียวหรือ เมื่อตอนผมหนุ่ม ๆ ผมจึงออกไปตามหัวเมืองปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือด้านการแพทย์ คือศิริราชจะเปิดช่วงงานไว้ว่าปีหนึ่งจะต้องส่งหมอออกไปช่วยในถิ่นทุรกันดาร อย่างผมเลือกไปอุดรธานีติดต่อกันหลายปี ไปครั้งละประมาณหนึ่งเดือน

          “พระองค์ท่านมีพระเมตตาต่อคนทุกคน ทรงเห็นเหมือนกับเป็นญาติ ไม่ทรงรังเกียจอะไรเลย และไม่ทรงเคยโยนความรับผิดชอบสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทราบอยู่แล้วไปให้ผู้อื่น เมื่อทรงริเริ่มอะไรไว้แล้วจะทรงติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ

          “สำหรับผม ไม่มีคำสอนจากพระองค์เป็นการส่วนตัว แต่ตัวอย่างทุก ๆ เรื่องจากที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติอยู่ ผมจดจำมายึดเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งหมด”
 

                                  พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์

๕.พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

           ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสถึงความสำคัญของกีฬาไว้ว่า “กีฬานั้น…ช่วยกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ…เป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติ…”

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงกีฬาเรือใบอย่างมาก สิ่งที่เป็นประจักษ์แก่สายตาประชาชนชาวไทยและคนทั่วโลกคือ นอกจากจะทรงเรือใบได้เก่งแล้ว ยังทรงสามารถคิดค้น ออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เองหลายลำ ลำแรกที่ทรงต่อเองคือเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพร้ส์ ลำที่สองคือเรือใบประเภทโอเค โดยพระราชทานนามว่า ‘นวฤกษ์’ ทรงนำเรือใบชนิดนี้เข้าแข่งขันกีฬาแหลมทองและคว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและองค์เดียวที่ลงแข่งขันในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังทรงออกแบบเรือใบมดที่ดัดแปลงจากเรือใบประเภทม็อธ ให้มีขนาดเล็กลงเหมาะสมกับรูปร่างคนไทย

          “เหตุการณ์ที่ผมยังรู้สึกประทับใจจนถึงวันนี้คือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบประเภทโอเค ที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ชื่อ ‘เวคา’ ข้ามจากวังไกลกังวลมายังสัตหีบพระองค์ท่านทรงเรือใบด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง เป็นระยะทาง ๖๐ ไมล์ทะเล ใช้เวลากว่า ๑๗ ชั่วโมง มีเพียงแซนด์วิชและน้ำชาจีนเป็นเสบียงตลอดทั้งวัน พระองค์ท่านเป็นพระมหา-กษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่มีพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบทางไกลยอดเยี่ยม ในแบบที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยทำมาก่อน

          “ในฐานะที่ผมเป็นนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านจึงเป็นทั้งแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ตัวผมเองเคยมีโอกาสแล่นเรือใบมาบ้าง ปรัชญาที่แฝงไว้ในกีฬาชนิดนี้คือ การดำเนินชีวิตไม่ต่างอะไรกับการนำเรือไปสู่จุดหมาย บางครั้งอาจต้องเจอกับความทุกข์ยากเปรียบเสมือนการเผชิญคลื่นลมและอากาศแปรปรวนผู้เล่นเรือใบต้องมีสติ สามารถนำชีวิตและเรือไปให้ถึงปลายทาง

          “เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นในการแล่นเรือใบหลายต่อหลายครั้งครับ”

                                        ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี จิตรกร

๖.พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม
ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี จิตรกร


          จิตรกรอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์จนเป็นที่ยอมรับและเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นหลังมากว่า ๒๐ ปี ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          “สมัยเด็กผมเห็นภาพวาดฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วไม่ค่อยเข้าใจ กระทั่งเมื่อได้เรียนศิลปะ จึงเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่งานที่เหมือนจริงเท่านั้น แต่เป็นงานที่แสดงออกถึงความคิด อารมณ์ความรู้สึก ผลงานภาพฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวมีครบถ้วนทุกอย่างทรงพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมอย่างแท้จริง

          “พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน จากนั้นก็เริ่มสะสมทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระบรมรูปหล่อจำลอง พระบรมรูปปั้นภาพพิมพ์ พระบรมฉายาลักษณ์ในอดีต เหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องเคารพกราบไหว้ เป็นศรีแก่ตัวเอง

          “นอกจากนี้ผมยังได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

           "ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง"

          “หน้าที่ของศิลปินหรือคนเขียนรูปคือ การเขียนรูปออกมาให้ดีที่สุด รับผิดชอบงาน และต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงานศิลปะ พอยิ่งอายุมากขึ้น เรายิ่งต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง เพราะเมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีรุ่นน้องมาชื่นชมว่าเราเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่าง ฉะนั้นเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขา

          “ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่องานของตัวเองแล้ว งานที่ออกมาไม่ซื่อสัตย์สำหรับผมก็คืองานปลอม ซึ่งไม่มีค่าอะไรเลย”
 

                                              นิติกร กรัยวิเชียร

๗.พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

นิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

          “การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน หรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”

          “พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานให้คณะกรรมการสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์รุ่นบุกเบิกเมื่อหลายสิบปีก่อนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทรงให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพมาก และมีพระราชประสงค์ให้นักถ่ายภาพทุกคนตระหนักอยู่เสมอในการนำภาพถ่ายไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวม

          “แม้ว่าผมจะเกิดไม่ทันช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยทางด้านการถ่ายภาพ แต่เรื่องราวและภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านจำนวนมากก็ได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้เราสามารถศึกษาและมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าโปรดการถ่ายภาพตั้งแต่ได้รับพระราชทานกล้องถ่ายภาพกล้องแรกจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา โดยระยะแรกทรงฉายภาพบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ทอดพระเนตรเห็นในแต่ละวัน จากนั้นทรงทดลองฉายภาพที่มีมุมมองด้านศิลปะ และทรงมีเทคนิคการถ่ายภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น

          “จนกระทั่งช่วงที่ทรงได้พบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ขณะที่ทรงเป็นพระคู่หมั้นที่งดงามออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระฉายาลักษณ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ จนเวลาผ่านไปพระราชกรณียกิจในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนมากขึ้นตามลำดับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในช่วงนั้นก็ได้แปรเปลี่ยนไปเน้นเป็นภาพที่ทรงฉายขณะที่ทรงงานในพื้นที่ อันเป็นการบันทึกภาพสำหรับทรงใช้เป็นข้อมูลเพื่อให้การทรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง นับเป็นแบบอย่างที่ประเสริฐที่สุดแก่นักถ่ายภาพทุกคน

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระมหากรุณาธิคุณกับวงการถ่ายภาพของประเทศไทยเป็นอเนกประการ โดยได้ทรงรับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี 2504ทั้งยังได้พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายของสมาคมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

          “ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินรางวัลชนะเลิศจากภาพที่เข้ารอบสุดท้ายด้วยพระองค์เองอีกด้วยนอกจากจะทรงตัดสินภาพแล้ว ในบางครั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชดำรัสว่าภาพที่ได้รับรางวัลนั้นหากปรับปรุงบางส่วนตามที่ทรงแนะนำ ก็จะทำให้ภาพนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ยังความปลาบปลื้มแก่เจ้าของภาพและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างหาที่สุดมิได้

          “ส่วนตัวผมเองก็ได้ทำงานบริการสังคมในการบริหารงานสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และงานถ่ายภาพบุคคลสำคัญของชาติ ตามความถนัดของตนเอง เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเราด้วยภาพถ่าย

          “แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่ก็มีความภาคภูมิใจที่ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมาในตอนต้นมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้”
 

                                   พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

๘.พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาชนบท
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

          เมื่อ “สมเด็จย่า” เสด็จฯ มาที่ดอยตุง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ มีรับสั่งว่า“ตกลงฉันจะสร้างบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง ฉันก็ไม่มา”

          “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงศึกษาโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสามแห่ง เพื่อนำมาปรับใช้ที่ดอยตุง พระองค์ท่านเสด็จฯไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกป่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูเรื่องการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด และ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ราชเลขานุการในพระองค์ (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์) ไปที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อดูงานการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จะบอกว่าโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นโครงการที่แม่เรียนจากลูกก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งลูกก็เรียนมาจากแม่เช่นกัน

          “จึงเรียกได้ว่าโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการตามทั้งวิธีคิดและวิธีการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จย่า คือ เอาคนเป็นตัวตั้ง เข้าใจเข้าถึงข้อมูลจริง และรู้ถึงข้อมูลทางภูมิสังคม แปลว่าไม่ใช่แค่ข้อมูลทางกายภาพ แต่ต้องรู้ถึงข้อมูลเชิงวัฒนธรรม ความคิดความรู้สึก ความเชื่อ เป็นข้อมูลทางสังคมที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญภาพที่ประทับบนพื้นดิน กางแผนที่ฟังชาวบ้านทูลรายงาน เป็นภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนทำงานตามรอยพระองค์ท่าน คือ ออกไปฟังเสียงประชาชนจริง ไปเรียนรู้จากปัญหาของชุมชนจริง และพยายามทำงานตามข้อมูลจริง เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ได้จริงและตรงจุด

          “ความสำเร็จจากการพัฒนาตามพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว จากบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เดิมเป็นทุ่งฝิ่น มีกองกำลังชนกลุ่มน้อย มีเสียงปืนดังเป็นเรื่องปกติคนยากจนมาก วันนี้เป็นวันที่ทุกคนมีชีวิตมั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ และอยู่กับป่าอย่างร่มเย็น

          “ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านการพัฒนาตาม ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ได้ขยายผลต่อในพื้นที่อื่นทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น โครงการขยายผลที่จังหวัดน่าน ที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ‘ปลูกป่า ปลูกคน’บนพื้นที่ ๒๕๐,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุม ๓ อำเภอ ได้แก่ ท่าวังผา สองแควและเฉลิมพระเกียรติ และที่ต่างประเทศ เช่น พม่า อัฟกานิสถานและอินโดนีเซีย

          “องค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติให้การยอมรับและยกย่องให้เราเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) มูลนิธิชวาป (Schwab Foundation for Social Entrepreneurship) สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนั้นยังได้รางวัลนิเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) จากญี่ปุ่น ในฐานะองค์กรยอดเยี่ยมของเอเชียทางด้านการพัฒนาชุมชนและวัฒนธรรม เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคนี้

          “ในขณะที่ทั้งโลกยังคงพยายามหาคำตอบถึงปัญหาต่าง ๆ น่าภูมิใจมากที่ประเทศไทยมีองค์ความรู้ของคำตอบนั้นคือหลักเศรษฐกิจ พอเพียง

          “และดอยตุงเป็นหนึ่งในโครงการที่เห็นถึงความสำเร็จเป็นรูปธรรมจากการนำศาสตร์ของพระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวงมาปรับใช้”
 

                                                 เอกชัย เจียรกุล

๙.พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี
เอกชัย เจียรกุล
นักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก

          “เบิร์ด – เอกชัย เจียรกุล” หนุ่มเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์กีตาร์คลาสสิกอันดับหนึ่งของโลกจากการประกวดจากเวที GFA ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีบทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นแรงนำใจ

          “บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอิทธิพลต่อชีวิตผมมาก จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ชั้น ม.๑ ผมฟังรุ่นพี่ในวงโยธวาทิตเล่นกีตาร์คลาสสิก เพลงชะตาชีวิต แล้วประทับใจมาก นอกจากทำนองที่ไพเราะแล้วเนื้อหายังจับใจอีกด้วย ผมเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตั้งแต่นั้น และใช้เวลาหัดอีก ๓ เดือนจึงเล่นเพลงนี้ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผมในฐานะนักกีตาร์คลาสสิก

          “จนเมื่อประมาณ ๕ ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสทำโปรเจ็คท์พิเศษร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เชิญ ๑๕ บทเพลงพระราชนิพนธ์มาเรียบเรียงโดยนักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และต่อเนื่องไปถึงโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษาทำให้รู้สึกมีความผูกพันและประทับใจบทเพลงพระราชนิพนธ์มากขึ้น อย่างล่าสุดผมไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างประเทศกว่า ๙ เดือนก็อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่นด้วยทุกครั้ง

          “ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลกที่ทรงพระปรีชาในการพระราชนิพนธ์เพลงได้ไพเราะ ทรงมีประสบการณ์ด้านดนตรีสูง แต่ละเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ล้วนมีชั้นเชิงผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊สและป็อป มีความไพเราะอยู่เหนือกาลเวลา ผมเคยดูวิดีโอที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีร่วมกับเบนนี่ กู๊ดแมน นักดนตรีแจ๊สระดับโลกพระองค์ท่านทรงพระอัจฉริยภาพมาก เวลาเล่าเรื่องนี้ให้นักดนตรีชาวต่างชาติฟัง ทุกคนจะตื่นเต้น เพราะผู้ที่จะได้ร่วมเล่นกับนักดนตรีระดับโลกต้องมีฝีมือไม่ธรรมดา และพระองค์ท่านก็ทรงเป็นหนึ่งในนั้น

          “ความฝันสูงสุดในชีวิตผมคือ การมีโอกาสเล่นกีตาร์คลาสสิกแสดงเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ”

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ ๘๓๓ ปักษ์วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙
 
นำเสนอสิ่งดีสุดยอด : พระมหาผล วิเชฏฐสมโณ
อ้างอิงจาก : นิตยสารแพรวฉบับที่ ๘๓๓ ปักษ์วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙
 
ข้อมูลอื่นๆ
>>>ขอเชิญเที่ยวงาน "สมโภช ๑๘๘ ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร" พ.ศ.๒๕๕๙
>>>สมโภชพระอาราม ๑๘๘ ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พ.ศ.๒๕๕๙
>>>๑๕ เมษายน "วันปีใหม่ วันเถลิงศก" สงกรานต์งานวันสุดท้าย วัดประยูรฯ ปี ๒๕๕๘
>>>ขอเชิญเที่ยวงาน'ประเพณีสงกรานต์'วัดประยุรวงศาวาส ปี ๒๕๕๘
>>>Water Festival ล่องเรือฟรี ๗ ท่าน้ำวิถีไทย วัดประยุรวงศาวาส ปี ๒๕๕๘
>>>เที่ยวงานเทศกาลสงกรานต์วัดประยูรฯ ๒๕๕๘ 
>>>เที่ยวสงกรานต์ ๒๕๕๘ วัดประยุรวงศาวาส
>>>ขอเชิญเที่ยวงานฉลองวัด "ประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดรั้วเหล็ก" ๑๘๗ ปี 
>>>รวมภาพบรรยากาศ ในงานฉลองรางวัลยูเนสโก ๑๓-๑๖ พ.ค.๒๕๕๗ 
>>>เจดีย์วัดประยุรวงศาวาสฯ มรดกทางวัฒนธรรม
>>>เจดีย์ที่มีแกนกลางแบบอยุธยา มีอุโมงค์ที่ให้คนเข้าไปดูได้ ได้รับรางวัลที่ ๑ จากยูเนสโก
>>>"เจดีย์พระประธาน" วัดประยูรฯ ชนะเลิศประกวดอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม 
>>>'เจดีย์พระประธาน' วัดประยูรฯ ชนะเลิศประกวดอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมฯ จากยูเนสโก 
>>>Award of Excellence
>>>วัดประยุรวงศาวาสฯ คว้ารางวัล "ยูเนสโก" 
>>>"วัดประยุรวงศาวาส" ในสายตา UNESCO 
>>>พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม1 : Download? (284 kb)
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม2 : Download? (284 kb)
0 ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม3 : Download? (284 kb)
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม4 : Download? (284 kb)
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม5 : Download? (284 kb)

เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559 | อ่าน 3408
เขียนโดย วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 
 
 
 
   
ข่าวประชาสัมพันธ์ อื่นๆ
เปิดสมัครพระนักเทศน์หลักสูตรประกาศนียบัตร (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘
รับสมัครพระสังฆาธิการ, จบนักธรรมเอก หรือเป็นเปรียญธรรม หลักสูตรประกาศนียบัตร วิชาการเทศนา (ป.ทศ.) รุ่นที่ ๘ ปี ๒๕๖๗ ณ วัดประยูรฯ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (เปิดอ่าน173)
23/4/2567
สงกรานต์ บริการน้ำดื่มฟรี...! ที่วัดประยูรฯ
น้ำดื่มเย็นๆ ชานมเย็น กาแฟเย็น ประเพณีสงกรานต์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ระหว่างวันที่ ๖ - ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ (เปิดอ่าน203)
13/4/2567
สถานที่พร้อมแล้วในการเทศนาธรรม ๔ ภาค ทั่วไทย ครั้งที่ ๒ (หนเหนือ)
เทศนาธรรม ๔ ภาค ทั่วไทย ครั้งที่ ๒ (หนเหนือ) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (เปิดอ่าน138)
4/4/2567
ประกาศผลสอบบาลี ประจำปี ๒๕๖๗
ประกาศผลสอบประโยคบาลีสนามหลวงระดับชั้นเปรียญธรรม (ป.ธ.) ๑-๒ ถึง ๙ ประโยค ประจำปี ๒๕๖๗ (เปิดอ่าน4900)
30/3/2567
ขอเชิญเที่ยวงาน "สงกรานต์ วัดประยูรฯ" ปี ๒๕๖๗
ร้อนนี้มาเย็นกาย เย็นใจ รับปีใหม่ไทยด้วยความร่มเย็น ระหว่างวันที่ ๖ - ๑๕ เมษายน ๒๕๖๗ ที่วัดประยูรฯ (เปิดอ่าน732)
20/3/2567
รับสมัครบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน วัดประยูรฯ ปี ๒๕๖๗
โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ปี ๒๕๖๗ ณ โรงเรียนส่งเสริมพระพุทธศาสนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (เปิดอ่าน712)
12/3/2567
เปิดรับสมัครแล้ว...! พระนักเทศน์ทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๔
รับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (หมดเขตรับสมัครวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๗) (เปิดอ่าน2396)
9/2/2567
ขอเชิญเที่ยวงาน "สมโภช ๑๙๖ ปี วัดประยูรฯ" กรุงเทพฯ
งาน 'สมโภชพระอาราม ๑๙๖ ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร' สุขสราญรุ่งโรจน์ สมโภชวัดประยูร ไหว้พระขอพร ย้อนวันวาน ชิมอาหารท้องถิ่น ชมศิลปินร่วมสมัย เที่ยวงานปลอดภัย ใส่ใจรักษ์โลก วันที่ ๑๒ - ๑๓ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗ ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร (เปิดอ่าน4307)
1/1/2567
ขอเชิญร่วมงานส่งท้ายปีเก่า ๒๕๖๖ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๗ วัดประยูรฯ
ในวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ถึงวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๗ ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๙ น. เป็นต้นไป ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (เปิดอ่าน2375)
16/12/2566
ขอเชิญเที่ยวงานลอยกระทง วัดประยูรฯ ประจำปี ๒๕๖๖
เทศกาลประเพณีลอยกระทงประจำปี ๒๕๖๖ 'River Festival 2023' เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ครั้งที่ ๙ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (เปิดอ่าน2417)
5/11/2566
หนังสือธรรม บทความพระธรรมเทศนาวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วีดีโอธรรมะ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แฟ้มรูปภาพ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทเทศนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
บทความ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ดาวน์โหลดเอกสาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
องค์การบริหารงานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สำนักงานเจ้าแขวงกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ชมรมศิษย์เก่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
ศูนย์แปลพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ
โครงการอบรมพระนักเทศน์
กะดีจีนคลองสาน
WatPrayoon Dhamma Radio
สถานีวิทยุธรรมะวัดประยูรฯ
วีดีโอวัดประยูรฯ
วีดีโอเพิ่มเติม
ขณะนี้ 99 คน
วันนี้ 454 คน
เมื่อวานนี้ 1,694 คน
เดือนนี้ 46,952 คน
เดือนที่ผ่านมา 38,662 คน
ทั้งหมด 2,635,191 คน
เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2556
 
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๖๖-๑๖๙๓, ๐-๒๔๖๕-๕๕๙๒ โทรสาร ๐-๒๔๖๖-๙๔๙๘
สำนักงานฌาปนสถาน ๐-๒๔๖๖-๑๑๖๐, ๐-๒๔๖๕-๒๒๙๘ | www.watprayoon.com
Copyright © Watprayoon.com 2024 All Rights Reserved. พัฒนาเว็บไซต์โดย SchoolJob